คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6868/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้กำจัดจำเลยทั้งสองมิให้รับมรดกที่ดินพิพาทเพราะปิดบังพินัยกรรม ห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่ามิได้ปิดบังพินัยกรรม โจทก์และจำเลยทั้งสองรวมทั้งทายาทอื่นตกลงแบ่งมรดกโดยจำเลยทั้งสองได้ที่ดินพิพาท และจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว โจทก์ไม่มีส่วนในที่ดินพิพาทอีก คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องและห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ดังนี้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องพิพาทกันเกี่ยวกับการรับมรดกที่ดินพิพาทนั่นเอง คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้กำจัดจำเลยทั้งสองมิให้รับมรดกที่ดินพิพาท จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องเอามรดกที่ดินพิพาทเป็นของตนแต่ฝ่ายเดียว ส่วนฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองที่ว่ามีการตกลงแบ่งมรดกและจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองมรดกที่พิพาทเป็นส่วนสัดแล้ว ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความ หากเป็นจริงโจทก์ก็สิ้นความเป็นทายาทไม่มีสิทธิเรียกร้องเอามรดกที่ดินพิพาทรวมทั้งไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ดังนี้ฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองก็เพื่อจะได้มรดกที่ดินพิพาทแต่ฝ่ายเดียวเช่นกัน ฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองจึงเป็นเรื่องเดียวกับฟ้องเดิม พอที่จะพิจารณาพิพากษารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายตา ใจอุด และนางขันแก้ว ใจอุด จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และนางทองม้วน แก้วกำเนิด เป็นบุตรของนางขันแก้วกับนายอินทร์ แก้วกำเนิด นายตาและนางขันแก้วเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โดยจดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมาวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๒ นางขันแก้วถึงแก่กรรม นายตาได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวในส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่น หลังจากนั้นนายตาก็ถึงแก่กรรมจึงยังคงเหลือที่ดินมรดกของนางขันแก้วครึ่งหนึ่งที่จะตกแก่ทายาทนางขันแก้ว ครั้นวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำขอรับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวของนางขันแก้วโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นทายาทนางขันแก้ว ก่อนถึงแก่กรรมเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ให้แก่ผู้ใดและมีทายาทมีสิทธิที่ได้รับมรดกเพียง ๓ คน คือ จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และนางทองม้วน ซึ่งนางทองม้วนขอสละสิทธิไม่รับทรัพย์มรดกและเหลือทายาทเพียง ๒ คน คือ จำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ให้และได้ดำเนินการปิดประกาศให้ทราบทั่วกัน โจทก์ทราบความดังกล่าวได้ยื่นคำคัดค้านการโอนมรดกโดยแจ้งความจริงว่า นางขันแก้วมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ๔ คน คือ โจทก์ จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และนางทองม้วน ภายหลังโจทก์ทราบว่านางขันแก้วได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้เก็บพินัยกรรมไว้ เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกให้จำเลยทั้งสองนำพินัยกรรมมาแสดง การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาปิดบังพินัยกรรมและเจตนาเบียดบังทรัพย์มรดกโดยไม่ชอบ จึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ถูกจำกัด (ที่ถูกกำจัด) มิให้รับมรดกของนางขันแก้ว ใจอุด ในที่ดินพิพาทและไม่ให้จำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า เจ้ามรดกทั้งสองได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกำหนดให้ที่ดินบางส่วนเป็นของโจทก์และบางส่วนเป็นของจำเลยทั้งสอง ในระหว่างเจ้ามรดกทั้งสองยังมีชีวิตอยู่เจ้ามรดกทั้งสองและทายาทตกลงกันว่าให้แบ่งมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม โจทก์และมารดาโจทก์ตลอดจนจำเลยทั้งสองได้ดำเนินการแบ่งส่วนที่ดินเท่า ๆ กัน และโจทก์ได้ขอรับมรดกที่ดินโดยให้นายตาดำเนินการโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ และขอให้นายตาขายที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์และมารดาโจทก์ตามพินัยกรรม จำเลยทั้งสองเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และมารดาโจทก์ได้รับมรดกส่วนของตนเองไปครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้องและให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามโจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินในส่วนที่เป็นมรดกของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔ รับคำให้การของจำเลยทั้งสอง ส่วนฟ้องแย้งมีคำสั่งว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำการอย่างใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยทั้งสองที่จะห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยว ทั้งไม่เกี่ยวกับเรื่องขอกำจัดมิให้รับมรดกตามฟ้องเดิมจึงไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาล
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้กำจัดจำเลยทั้งสองมิให้รับมรดกที่ดินพิพาทเพราะปิดบังพินัยกรรม ห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่ามิได้ปิดบังพินัยกรรม โจทก์และจำเลยทั้งสองรวมทั้งทายาทอื่นตกลงแบ่งมรดกโดยจำเลยทั้งสองได้ที่ดินพิพาท และจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว โจทก์ไม่มีส่วนในที่ดินพิพาทอีก คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง และห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ดังนี้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องพิพาทกันเกี่ยวกับการรับมรดกที่ดินพิพาทนั่นเอง คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้กำจัดจำเลยทั้งสองมิให้รับมรดกที่ดินพิพาทจึงเป็นการฟ้องเรียกร้องเอามรดกที่ดินพิพาทเป็นของตนแต่ฝ่ายเดียว ส่วนฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองที่ว่ามีการตกลงแบ่งมรดกและจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองมรดกที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดแล้วทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความ หากเป็นจริงโจทก์ก็สิ้นความเป็นทายาทไม่มีสิทธิเรียกร้องเอามรดกที่ดินพิพาท รวมทั้งไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ดังนี้ ฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองก็เพื่อจะได้มรดกที่ดินพิพาทแต่ฝ่ายเดียวเช่นกัน ฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองจึงเป็นเรื่องเดียวกับฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณาพิพากษารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแย้ง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้ววินิจฉัยตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา.

Share