คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 68/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หน้าที่เปิดเผยข้อความจริงของผู้เอาประกันภัยมิได้สิ้นสุดลงเพียงในชั้นยื่นคำเสนอขอเอาประกันภัยโดยกรอกคำตอบในแบบคำขอนั้นเท่านั้น แต่ยังคงมีอยู่ตลอดเวลาในระหว่างนั้นเรื่อยไปจนถึงเวลาที่ผู้รับประกันภัยสนองตอบรับจนเกิดเป็นสัญญาขึ้นแล้วระหว่างคู่กรณี ฉะนั้น ในกรณีประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันภัยจะได้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตแล้ว โดยเฉพาะในข้อถามที่ 7ว่า ตนไม่เคยเป็นโรคกระเพาะอักเสบ โรคตับอักเสบ ฯลฯ ยื่นส่งแก่บริษัทประกันภัยไปแล้วก็ตาม ถ้าภายหลังนั้นผู้เอาประกันภัยเกิดป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคกระเพาะอาหารและโรคตับแข็งซึ่งเป็นผลให้ข้อความจริงซึ่งได้แถลงไปแล้วแต่แรกนั้นคลาดเคลื่อนไม่ตรงต่อความเป็นจริง และผู้เอาประกันภัยย่อมทราบว่ายังอยู่ในระหว่างเวลาที่บริษัทยังพิจารณาคำขอ และยังมิได้ออกกรมธรรม์ตอบรับมา ทั้งข้อถามต่างๆ ในแบบคำขอนั้นผู้เอาประกันภัยเองก็ได้ทราบและรับรองไว้ว่าเป็นข้อความจริงอันเป็นมูลฐานและสารสำคัญแห่งการออกกรมธรรม์ของฝ่ายผู้รับประกันภัยดังนี้ ย่อมมีผลให้สัญญาไม่สมบูรณ์เป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกล้างและคืนแต่ค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๐๘ นายแพง ชุมคำ ได้เอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลย มีกำหนดระยะเวลาเอาประกัน ๒๐ ปี เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทบริษัทคิดเบี้ยประกันปีละ ๒,๓๑๐ บาท กำหนดส่งเป็นรายปีเป็นเวลา ๑๕ ปีหรือจนกว่านายแพง ชุมคำ ถึงแก่กรรม (กรณีตายก่อนครบกำหนด ๑๕ ปี)โดยบริษัทจำเลยจะจ่ายเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาทเมื่อนายแพง ชุมคำถึงแก่กรรมภายในกำหนดเวลา ๒๐ ปี ตามสัญญาแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามหนังสือกรมธรรม์ประกันชีวิตเลขที่ ๑๑๗๐๙ นายแพง ชุมคำ ได้ส่งเบี้ยประกันให้แก่บริษัทจำเลยแล้ว ๑ งวด เป็นเงิน ๒,๓๑๐ บาทต่อมาวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๐๘นายแพง ชุมคำ ผู้เอาประกันชีวิตได้ถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ได้แจ้งไปยังบริษัทจำเลยพร้อมหลักฐานเพื่อขอรับเงินกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว บริษัทจำเลยส่งผู้แทนมาเอากรมธรรม์ประกันชีวิตไปจากโจทก์อ้างว่าจะจ่ายเงินให้ แต่แล้วในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๘ กลับปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินโดยอ้างว่านายแพง ชุมคำได้ปกปิดความจริงเกี่ยวกับสุขภาพและความเจ็บป่วยซึ่งความจริงนายแพง ชุมคำ หาได้ปกปิดความจริงดังกล่าวแต่ประการใดไม่ขอให้บังคับให้บริษัทจำเลยชำระเงินที่เอาประกันจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๘ ซึ่งเป็นวันที่บริษัทจำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้จนกว่าจะใช้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับประกันชีวิตนายแพง ชุมคำ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๐๘ แต่เหตุที่จำเลยไม่จ่ายเงินแก่โจทก์ก็เพราะนายแพงชุมคำ ผู้เอาประกันซึ่งรู้อยู่แล้วว่าสุขภาพของตนไม่สมบูรณ์เป็นโรคมีความเจ็บป่วยซึ่งเกิดแก่ตนก่อนที่จะเอาประกันชีวิต ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ทั้งแถลงข้อความเท็จเกี่ยวกับสุขภาพ ความเป็นโรคและความเจ็บป่วยของตนเป็นการผิดต่อกฎหมายและผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งตกเป็นโมฆียะ จำเลยได้มีหนังสือบอกล้างไปยังโจทก์แล้ว จึงไม่มีหน้าที่ชำระเงินประกันตามฟ้องคงมีหน้าที่คืนเงินเบี้ยประกันหรือค่าไถ่ถอนกรมธรรม์เท่านั้นซึ่งจำเลยก็พร้อมจะชำระแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นฟังว่า นายแพง ชุมคำ ไม่ได้ปกปิดความจริงเกี่ยวกับสุขภาพหรือการเจ็บป่วยของตนในการทำสัญญาประกันชีวิตนี้ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๗ ธันวาคม๒๕๐๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัย ๒ ประเด็นคือ๑. ในเวลาทำสัญญาประกันชีวิตนั้น นายแพง ชุมคำ ผู้เอาประกันภัยละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ เจ็บป่วยเป็นโรคหรือแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ ๒. การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตของจำเลยสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๘ นายแพงได้ยื่นคำขอประกันชีวิตต่อบริษัทจำเลย แต่เนื่องจากการประกันชีวิตชนิดนี้มีกำหนดเวลา๓๐ ปี ได้ยกเลิกแล้วจึงขอประกันชีวิตชนิดมีกำหนดเวลา ๒๐ ปี เจ้าหน้าที่บริษัทจำเลยได้สอบถามนายแพงเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยตามเอกสาร ล.๗โดยเฉพาะข้อถามที่ ๗ มีว่า “ท่านเคยเป็นโรคกระเพาะอักเสบ ลำไส้อักเสบไส้ติ่งอักเสบและโรคตับหรือไม่” ซึ่งนายแพงตอบว่า “ไม่” ภายหลังนายแพงยื่นคำขอและตอบข้อถามในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๘ ไปแล้ว ต่อมาวันที่ ๑๖ถึงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๐๘ นายแพงได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสระบุรีด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหารเมื่อออกจากโรงพยาบาลดังกล่าวในวันเดียวกันนั้นได้เข้ารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดลพบุรีด้วยโรคตับแข็งจนกระทั่งวันที่๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๘ แล้ว ภายหลังนั้นได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอานันทมหิดลอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๐๘ จนในที่สุดได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๖กันยายน ๒๕๐๘ ด้วยโรคตับแข็ง ภายหลังที่นายแพง ยื่นขอเอาประกันชีวิตและชำระเบี้ยประกันภัยงวดแรกเป็นเงิน ๒,๓๑๐ บาทแล้ว บริษัทจำเลยได้ออกใบรับเงินและออกกรมธรรม์ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๘ตอบรับประกันชีวิตนายแพง
ในประเด็นข้อหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังว่านายแพงได้ยื่นคำขอประกันชีวิตไปแล้วเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๘ ตามหลักฐานที่โจทก์อ้าง หรือหลังวันที่ ๒๒ เดือนนั้นซึ่งเป็นการยื่นขอทำสัญญาประกันฉบับพิพาทนี้ดังที่จำเลยโต้แย้งก็ตาม แต่ก่อนวันที่ ๒๘ เดือนเดียวกันซึ่งเป็นวันที่บริษัทจำเลยตกลงรับประกันโดยออกกรมธรรม์ฉบับพิพาทนี้ นายแพงก็ยังมีหน้าที่ต้องเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับโรคกระเพาะอักเสบและโรคตับแข็งที่เกิดขึ้นแก่ตนในตอนหลังนี้ด้วย เมื่อตนมิได้เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวให้บริษัททราบก่อนที่สัญญาจะเกิดขึ้นแล้วระหว่างคู่กรณี ซึ่งเป็นผลให้ข้อความจริงซึ่งได้แถลงไปแต่แรกนั้นคลาดเคลื่อนไปจากความจริงซึ่งนายแพงควรต้องทราบว่ายังอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่ทางผู้รับประกันภัยยังพิจารณาข้อความจริงในคำขอเอาประกันนั้นอยู่ ซึ่งโรคนั้นนายแพงได้ทราบและรับรองไว้ในคำขอประกันชีวิตว่าเป็นมูลฐานและสารสำคัญแห่งการออกกรมธรรม์ และบริษัทก็นำสืบด้วยว่าถ้าทราบก็จะไม่เข้าทำสัญญาด้วย ดังนี้สัญญาประกันชีวิตจึงไม่สมบูรณ์เป็นโมฆียะซึ่งจำเลยมีสิทธิบอกล้างได้
ในประเด็นข้อสอง ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อบริษัทได้ทราบการตายของนายแพงจากหนังสือลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๐๘ ของนางทองคำผู้รับประโยชน์แล้ว ซึ่งในหนังสือนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่านายแพงได้เป็นโรคนี้จนถึงแก่ความตายมาตั้งแต่เมื่อไรแล้วได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สืบสวนมูลเหตุการตายและได้รับรายงานเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๘ ว่านายแพงได้ป่วยด้วยโรคนี้มาก่อนที่บริษัทได้ออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ บริษัทจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๘ บอกล้างสัญญา ไปซึ่งเป็นเวลาภายในกำหนด ๑ เดือนนับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ วรรค ๒ ซึ่งผู้รับประกันภัยคงต้องคืนแต่ค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยแก่ทายาทของผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๙๒
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share