คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 791/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุสุดวิสัยที่จำเลยอ้างมานั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยผิดสัญญาส่งเหล็กให้แก่โจทก์แล้วประมาณ 7 เดือน จำเลยอ้างเหตุนี้ขึ้นเป็นข้อแก้ตัวเพื่อจะไม่ต้องรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่
การให้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในกรณีผิดสัญญานั้นก็เพื่อที่จะชดใช้และให้ความพอใจแก่ฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญาสำหรับความเสียหายที่ฝ่ายนั้นได้รับจริง ๆ กฎหมายไม่ประสงค์ให้มีการค้ากำไรในการผิดสัญญา
เบี้ยปรับนั้นก็คือค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้านั่นเองเบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย โดยเหตุนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 จึงบัญญัติไว้ว่า ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงก็ได้และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ว่า ให้เจ้าหนี้เรียกค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เสียไป โดยให้คิดเบี้ยปรับรวมอยู่ในนั้นด้วย คือให้ถือว่าเบี้ยปรับเป็นจำนวนน้อยที่สุดของค่าเสียหาย
เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยเสียเบี้ยปรับให้โจทก์อีกไม่ได้เพราะเป็นการเรียกร้องที่นอกเหนือไปจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง
จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งของให้โจทก์ตามกำหนด แต่ของที่บริษัท ท.เสนอราคามานั้น มีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โจทก์กำหนดไว้ ส่วนของ ฮ.มีคุณสมบัติตรงกับที่โจทก์กำหนดไว้ ฉะนั้น การที่โจทก์รับซื้อจาก ฮ. จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบปฏิบัติของทางการรถไฟแต่อย่างใดหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาขายเหล็กเหนียวให้โจทก์ 24 ท่อนเป็นเงิน 43,728 บาท จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งของตามกำหนด จำเลยต้องเสียค่าปรับตามสัญญาให้โจทก์เป็นเงิน 11,932 บาท โจทก์ทำสัญญาซื้อเหล็กจากนายฮั่วยัมแพงกว่าที่ซื้อจากจำเลยเป็นเงิน 38,419 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงินรวม 49,351 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า การที่จำเลยไม่สามารถส่งเหล็กตามสัญญา เกิดจากเหตุสุดวิสัย โดยกรรมกรท่าเรือในประเทศอังกฤษผละงาน ทำให้เหล็กที่จำเลยสั่งซื้อตกค้างอยู่ที่ท่าเรือและหายไป โจทก์ซื้อเหล็กจากนายฮั่วยัมในราคาที่สูง เป็นการไม่ชอบ ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินที่โจทก์ซื้อเหล็กแพงขึ้นเป็นเงิน 34,613.40 บาท พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าปรับ 10,932 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยส่งเหล็กให้โจทก์ไม่ได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยกรรมกรท่าเรือผละงานไม่สามารถจะขนบรรทุกเรือส่งมาได้

ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุสุดวิสัยที่จำเลยอ้างมานั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยผิดสัญญาส่งเหล็กให้แก่โจทก์แล้วประมาณ 7 เดือน จำเลยอ้างเหตุนี้ขึ้นเป็นข้อแก้ตัวเพื่อจะไม่ต้องรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่

ตามสัญญาข้อ 4 ได้กำหนดจำนวนค่าปรับและค่าเสียหายเต็มจำนวนไว้ล่วงหน้าที่จำเลยจะต้องรับผิดในเมื่อผิดสัญญา

ศาลฎีกาเห็นว่า การให้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในกรณีผิดสัญญานั้น ก็เพื่อที่จะชดใช้และให้ความพอใจแก่ฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญาสำหรับความเสียหายที่ฝ่ายนั้นได้รับจริง ๆ กฎหมายไม่ประสงค์ให้มีการค้ากำไรในการผิดสัญญา

เบี้ยปรับนั้นก็คือค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้านั่นเอง เบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย โดยเหตุนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 จึงบัญญัติไว้ว่า ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงก็ได้ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ว่าให้เจ้าหนี้เรียกค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เสียไปโดยให้คิดเบี้ยปรับรวมอยู่ในนั้นด้วย คือให้ถือว่าเบี้ยปรับเป็นจำนวนน้อยที่สุดของค่าเสียหาย

คดีนี้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยเสียค่าปรับให้โจทก์อีกไม่ได้ เพราะเป็นการเรียกร้องที่นอกเหนือไปจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง

จำเลยฎีกาว่า การซื้อเหล็กจากนายฮั่วยัมเป็นการไม่สุจริต

ศาลฎีกาเห็นว่า เหล็กที่บริษัททองไทย (1956) จำกัด เสนอราคามานั้นมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โจทก์กำหนดไว้ ส่วนของนายฮั่วยัมมีคุณสมบัติตรงกับที่โจทก์กำหนดไว้ ฉะนั้น การที่โจทก์รับซื้อจากนายฮั่วยัมจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบปฏิบัติของทางการรถไฟแต่อย่างใด และหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามผลแห่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share