แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าที่ดินมีข้อความว่า เช่าเพื่อจะใช้เป็นแหล่งการค้าเสาไม้กระดาน และเครื่องอุปกรณ์และอื่น ๆ หาปรากฏว่าจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่ และผู้เช่าซึ่งเป็นนิติบุคคลก็ได้ใช้ที่นี้เป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัทของผู้เช่า ดังนี้เป็นการเช่าเพื่อประโยชน์ในการค้าโดยตรง ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ (อ้างฎีกาที่ 11/2492)
นิติบุคคลเช่าห้องแถว ให้คนงานของตนอยู่อาศัยในบริเวณที่ดิน ซึ่งนิติบุคคลนั้นเช่าตั้งสำนักงานประกอบการค้าขายนั้น ถือว่าเป็นการเช่าเพื่อประโชน์แก่การค้าของนิติบุคคลนั้นเองไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ
สัญญาเช่าทำกันเองในฉบับเดียวกันแบ่งเวลาเช่าเป็น 2 งวด ๆ แรก 3 ปี งวดหลัง 2 ปี ดังนี้ มีผลเท่ากับทำคราวเดียวกำหนด 5 ปี ฉะนั้นตามกฎหมายย่อมมีผลบังคับได้เพียง 3 ปีเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากนางอุดม ปรากฏว่าจำเลยตั้งสำนักงานทำการค้าไม่กระดานอยู่ทีห้องแถว ๓ ห้อง ซึ่งโจทก์ซื้อจากนางอุดมพร้อมทั้งสิ้งปลูกสร้าง โจทก์จึงขอให้ขับไล่ และเรียกค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า เช่าที่ดินรายนี้จากนางอุดม เพื่อปลูกสร้างทำเครื่องก่อสร้าง และเป็นที่อยู่อาศัยมีกำหนด ๕ ปี จำเลยชำระค่าเช่าโดยปลูกห้องแถวในที่ดินรายนี้ ๓ ห้องและปลูกทำออฟฟิศให้คนงานจำเลยอยู่อีก ๘ ห้อง ต่อมาห้อง ๓ ห้องนั้นว่าง จำเลยจึงได้เช่าจากนางอุดมไว้ให้คนงานอยู่อาศัย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากสถานที่พิพาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่ามีความว่า เช่าเพื่อจะใช้เป็นแหล่งการค้าไม่กระดานและเครื่องอุปกรณ์และอื่น ๆ หากปรากฏว่า จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่ จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลก็ได้ใช้ที่นี้เป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทของจำเลย การเช่าเพื่อประโยชน์ในการค้าโดยตรงเช่นนี้ ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑/๒๔๙๒
ส่วนห้องแถวอีก ๓ ห้อง ซึ่งจำเลยสร้างขึ้นให้แก่ผู้ให้เช่า ตามสัญญาเพื่อหลบภัยทางอากาศ แล้วต่อมาจำเลยได้เช่าให้คนงานของบริษัทของจำเลยอาศัยนั้น ก็เป็นการเช่าเพื่อประโยชน์แก่การค้าของจำเลยนั้นเอง จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน
ส่วนสัญญาที่จำเลยทำให้กับเจ้าของเดิมมีกำหนด ๕ ปี ปรากฏว่าเป็นสัญญาทำกันเองในฉบับเดียวกัน แบ่งเวลาเป็น ๒
วด งวดแรก ๓ ปี งวดหลัง ๒ ปี จึงมีผลเท่ากับทำคราวเดียวกำหนดเวลา ๕ ปี ตามกฎหมายย่อมมีผลได้เพียง ๓ ปี ตอนโจทก์บอกให้จำเลยออกจากที่ เกินเวลา ๓ ปีแล้ว จำเลยก็ต้องออกไป
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น