แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับ ส.สามีจำเลยเป็นบุตรของ ย. เมื่อ ย. ตายแล้ว ส. ได้เป็นผู้จัดการมรดกอันมีที่ดินมือเปล่า 1 แปลงกับเรือนในที่ดิน 1 หลัง ต่อมาได้มีการรื้อเรือนปลูกใหม่แทนหลังเดิมและปลูกห้องแถวขึ้นเก็บค่าเช่า ส. ตายไปโดยยังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ ฐานะของ ส. ในการเป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ย่อมสิ้นสุดลง
ก่อนตาย ส. ทำพินัยกรรมยกที่ดินเรือนและห้องแถวนั้นให้จำเลยกับบุตร จำเลยร้องขอให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ไม่มีผู้ใดคัดค้าน จำเลยก็ครอบครองทรัยพ์สินเหล่านั้นมาโดยถือว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยรับมรดกจาก ส. และขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ดังนี้จะถือว่าจำเลยครอบครองแทนโจทก์ด้วยหาได้ไม่ เมื่อจำเลยครอบครองมาเป็นเวลาถึง 5 ปีกว่าแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินนั้น และเมื่อโจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์ประธานเสียแล้ว เรือนกับห้องแถวหากปลูกอยู่ในที่ดินนั้น ตลอดจนค่าเช่าห้องแถวอันเป็นทรัพย์ส่วนควบและดอกผลของที่ดิน จึงตกเป็นของจำเลยไปด้วย โจทก์ย่อยหมดสิทธิฟ้องเรียกคืนเช่นกัน
ย่อยาว
ได้ความว่า นางหะยีเยาะมารดาของนายอาลีโจทก์และนายสมาน ไทยพิทักษ์ สามีจำเลยมีที่ดินมือเปล่า ๑ แปลง มีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินนี้ ๑ หลัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ นางหะยีเยาะตาย โจทก์และนายสมานได้ร่วมกันขอให้ศาลตั้งนายสมานเป็นผู้จัดการมรดกของนางหะยีเยาะ ศาลมีคำสั่งตั้งนายสมานเป็นผู้จัดการมรดก ระหว่างนั้นโจทก์วิกลจริตและเกิดมีกรณีพิพาทกับคนอื่นเกี่ยวกับทรัพย์มรดกบางส่วนของนางหะยีเยาะที่นายสมานเป็นผู้จัดการมรดก จึงยังไม่มีการแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนางหะยีเยาะ และต่อมามีการปลูกบ้านขึ้นใหม่ในที่พิพาทแทนหลังเดิมและปลูกห้องแถวขึ้น ๕ ห้อง โดยจำเลยและนายสมานสามีเป็นผู้ครอบครองบ้านและเก็บค่าเช่าห้องแถวตลอดมา จนนายสมานตายเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๐๔ ก่อนตายนายสมานได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดรวมทั้งที่ดินบ้านและห้องแถวให้จำเลยและบุตร จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนายสมานเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๔ ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนายสมาน แล้วจำเลยกับบุตรได้ครอบครองทรัพย์มรดกของนายสมานตลอดทั้งที่ดินบ้านและห้องแถวพิพาทตลอดมา จนวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๐๙ โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยแบ่งที่ดิน บ้านห้องแถว และค่าเช่าห้องแถวให้ครึ่งหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนางหะยีเยาะ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ เพราะมิได้พิพาทกันเกี่ยวด้วยทรัพย์มรดกของนายสมานสามีจำเลยแต่พิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายหะยีเยาะซึ่งสามีจำเลยครอบครองแทนโจทก์ตลอดมาและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุด นั้น เห็นว่า ระหว่างที่นายสมานยังมีชีวิตอยู่ก็ถือได้ว่านายสมานได้ครอบครองทรัพย์พิพาทแทนโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหะยีเยาะแต่เมื่อนายสมานตายแล้ว ทั้งยังทำพินัยกรรมยกทรัพย์พิพาททั้งหมดให้แก่จำเลยและบุตรด้วย จนจำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนายสมาน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน จำเลยก็เข้าครอบครองทรัพย์พิพาทตลอดมาในฐานะเป็นผู้รับมรดกนายสมาน ตลอดจนจัดการขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท ดังนี้จะถือว่าจำเลยยังคงครอบครองทรัพย์พิพาทแทนโจทก์สืบต่อจากนายสมานหาได้ไม่ เพราะฐานะการเป็นผู้จัดการมรดกนางหะยีเยาะของนายสมานย่อมสิ้นสุดลงเมื่อนายสมานตาย เมื่อจำเลยได้ครอบครองทรัพย์พิพาทโดยถือว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้รับมรดกจากนายสมานนับแต่นายสมานตาย จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลากว่า ๕ ปีแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิเรียกคืน เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญและโจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน ๑ ปีนับแต่วันถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ วรรรค ๒
ส่วนบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท และห้องแถว ๕ ห้องซึ่งยังมีประเด็นโต้เถียงกันอยู่ว่าใครเป็นคนออกเงินปลูกและปลูกอยู่ในหรือนอกที่พิพาท ตลอดจนค่าเช่าห้องแถวพิพาท ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป เพราะเมื่อฟังว่าโจทก์หมดสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์ประธานเสียแล้ว บ้านและห้องแถวซึ่งแม้จะฟังว่าปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดจนค่าเช่าห้องแถวอันเป็นทรัพย์ส่วนควบและดอกผลของที่ดินพิพาท จึงตกเป็นของจำเลยไปด้วย โจทก์ย่อมหมดสิทธิฟ้องเรียกคืนเช่นกัน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง