แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีนี้กำหนดที่จำเลยจะต้องยื่นฎีกาภายในวันที่ 28 กันยายน 2532จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาเพิ่มเติมเกินกำหนด จึงไม่รับ
จำเลยที่ 3 เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาภายในกำหนดอายุความแล้วคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ไม่ว่าเวลาใด ๆก่อนศาลพิพากษาคดี จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาเพิ่มเติมได้และไม่ถือว่าฎีกาเพิ่มเติมยื่นล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาเพิ่มเติมของจำเลยที่ 3 ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 116 แผ่นที่ 2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84,289(4) ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนของกลางแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ฟังเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532
จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาลงวันที่ 14 กันยายน 2532(อันดับ 105 แผ่นที่ 2)
จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว(อันดับ 111 แผ่นที่ 2)
จำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 116 แผ่นที่ 2)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว แม้กระบวนพิจารณาในชั้นฎีกาจะไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาว่า ให้คู่ความกระทำได้หรือไม่ได้เพียงใด แต่ก็เห็นว่ากรณีที่กฎหมายไม่มีบทห้ามเช่นนี้ คู่ความชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาที่ยื่นไว้แล้วได้ แต่มิได้หมายความว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาได้โดยไม่มีกำหนดเวลา ทั้งนี้จำต้องพิเคราะห์เป็นเรื่อง ๆ ไป เพราะฎีกานั้นเป็นการตั้งประเด็นในข้อเท็จจริงและหรือข้อกฎหมายให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ฉะนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาซึ่งเป็นการเพิ่มประเด็นขึ้นจากฎีกาฉบับเดิมที่ศาลสั่งรับไว้แล้ว ก็ต้องถือเท่ากับยื่นฎีกาดุจกัน แต่เป็นฎีกาฉบับเพิ่มเติมพิจารณาข้อความที่จำเลยที่ 3 ขอเพิ่มเติมฎีกาแล้วเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 เพิ่มข้อเถียงว่าเหตุที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนก็เนื่องจากพนักงานสอบสวนให้สัญญากับจำเลยที่ 3 ว่าถ้าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจะทำสำนวนคดีให้ไม่ฟ้องจำเลยที่ 3 และจะกันจำเลยที่ 3 ไว้เป็นพยานโจทก์จึงเป็นการเพิ่มประเด็นจากฎีกาเดิมที่มิได้กล่าวไว้ ฎีกาเพิ่มเติมของจำเลยที่ 3 ดังนี้ต้องอยู่ในบังคับระยะเวลาฎีกาหนึ่งเดือนตามมาตรา 216 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย การที่จำเลยที่ 3 ยื่นขอเพิ่มเติมฎีกาเมื่อล่วงเลยกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้วจึงรับไว้พิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาเดิมไม่ได้ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาฉบับเพิ่มเติมของจำเลยที่ 3 นั้นชอบแล้วคำร้องของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ยกคำร้อง