แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดไต่สวนให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านก่อน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งคู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคแรก ก็ตาม แต่การที่จะขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ตามวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความ หรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น
คดีปรากฏตามสำนวนว่าศาลชั้นต้นเบิกจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งจะครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นฎีกาในวันที่ 23 ธันวาคม 2548 และศาลชั้นต้นนัดฝ่ายโจทก์มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 วันที่ 19 ธันวาคม 2548 โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับสำเนาฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 และทนายโจทก์ร่วมทั้งสองทำคำแก้ฎีกามายื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 ดังนี้ ทนายโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งปรากฏว่าได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ด้วยย่อมเห็นได้จากสำเนาฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยื่นฎีกาลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ฟังเป็นเวลาถึง 2 เดือน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยจะต้องยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่จำเลยได้ฟังคำพิพากษา ย่อมทราบถึงการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยโดยไม่ได้ให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านคำร้องของจำเลยตั้งแต่ได้รับสำเนาฎีกาจากโจทก์ร่วมทั้งสองก่อนจะยื่นคำแก้ฎีกาในวันที่ 7 มีนาคม 2549 แล้ว ซึ่งถือว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาตามคำร้องนับแต่นั้นแล้ว แต่โจทก์ร่วมทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องอย่างช้าภายใน 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ โดยโจทก์ร่วมทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 คำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองจึงยื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโดยอ้างว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย อันเป็นการฎีกาว่าจำเลยไม่ได้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนตามฟ้องอันเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันไปด้วยในตัว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืน และพาอาวุธปืนด้วย ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิงสิริรัตน์ และเด็กชายณัฐพงศ์ บุตรนายสีหนุ ผู้ตาย โดยนางบุญเชิด ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 37 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี เมื่อศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเรียงกระทงลงโทษความผิดอื่นได้ คงให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยคำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ยื่นต่อศาลฎีกาเสียก่อน สืบเนื่องจากคดีนี้จำเลยฎีกาโดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลย ตามคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 9 มกราคม 2549 และฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2549 โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 21 มีนาคม 2549 คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยโดยผิดระเบียบ โดยศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดไต่สวนให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้มีโอกาสคัดค้านก่อน และจำเลยยื่นคำร้องภายหลังสิ้นระยะเวลายื่นฎีกาโดยไม่มีเหตุสุดวิสัย ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร เห็นว่า ตามคำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้จะปรากฏว่าในการไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยทั้งสองครั้ง ศาลชั้นต้นจะมิได้แจ้งวันนัดไต่สวนให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านก่อนตามที่โจทก์ร่วมทั้งสองอ้างในคำร้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ซึ่งคู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรก ก็ตาม แต่การที่จะขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามวรรคสองของมาตรากำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ปรากฏตามสำนวนว่าศาลชั้นต้นเบิกจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชมาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งครบกำหนดที่จำเลยจะต้องยื่นฎีกาในวันที่ 23 ธันวาคม 2548 และศาลชั้นต้นนัดฝ่ายโจทก์มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 วันที่ 19 ธันวาคม 2548 โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับสำเนาฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 และทนายโจทก์ร่วมทั้งสองทำคำแก้ฎีกามายื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 ดังนี้ ทนายโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งปรากฏว่าได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ด้วย ย่อมเห็นได้จากสำเนาฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยื่นฎีกาลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังจากวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ฟังเป็นเวลาถึง 2 เดือน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยจะต้องยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่จำเลยได้ฟังคำพิพากษา ย่อมทราบถึงการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยโดยไม่ได้ให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านคำร้องของจำเลยตั้งแต่ได้รับสำเนาฎีกาจากโจทก์ร่วมทั้งสองก่อนจะยื่นคำแก้ฎีกาในวันที่ 7 มีนาคม 2549 แล้ว ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาตามคำร้องนับแต่นั้นแล้ว แต่โจทก์ร่วมทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องอย่างช้าภายใน 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ โดยโจทก์ร่วมทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 คำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองจึงยื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง
ฎีกาของจำเลยที่ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงรับฟังยุติ ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์กลับจากส่งบุตรคนโตที่โรงเรียนวัดเววนมีบุตรคนเล็กอายุ 1 ปี 6 เดือน นั่งมาด้วย เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุผู้ตายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโดยอ้างว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย อันเป็นการฎีกาว่าจำเลยไม่ได้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนตามฟ้องอันเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันไปด้วยในตัว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนด้วย ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีเด็กชายเฉลิมชัย และนางอารี เป็นพยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะผู้ตายถูกยิงมาเบิกความได้ความว่า ขณะเกิดเหตุ เด็กชายเฉลิมชัยขี่รถจักรยานไปโรงเรียนวัดเววน ส่วนนางอารีขับรถจักรยานยนต์ไปส่งบุตรที่โรงเรียนเดียวกันสวนทางกับผู้ตาย โดยพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองต่างเบิกความว่าเห็นคนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองยาวจ่อยิงผู้ตายแต่ไม่ยืนยันว่าคนร้ายคือจำเลย แต่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีพันตำรวจโทเชี่ยวชาญ พนักงานสอบสวนซึ่งร่วมสอบสวนนางอารีเบิกความว่า ชั้นสอบสวนนางอารีให้การระบุว่าจำเลยเป็นคนร้าย โดยนางอารีให้การด้วยความสมัครใจ พยานได้นำภาพถ่ายบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งจำเลยมาให้นางอารีชี้เพื่อยืนยันตัวคนร้ายที่นางอารีเห็น ปรากฏว่านางอารีชี้ภาพถ่ายจำเลยยืนยันว่าเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ตามบันทึกคำให้การของพยานและบันทึกการชี้รูปผู้ต้องหา เห็นว่า ตามคำให้การนางอารีให้การชั้นสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พยานประสบเหตุผู้ตายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงโดยมีรายละเอียดทำนองเดียวกับที่เบิกความในชั้นพิจารณา ต่างกันแต่ในชั้นสอบสวนพยานให้การยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย แต่ในชั้นพิจารณาพยานกลับเบิกความว่าจำคนร้ายไม่ได้ จากคำเบิกความของนางอารีประกอบคำให้การชั้นสอบสวนได้ความว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์พยานขับรถจักรยานยนต์ไปส่งบุตรที่โรงเรียนแล้วเลยไปตลาด โดยพยานไม่ได้เล่าเหตุการณ์ที่เห็นผู้ตายถูกยิงให้ผู้ใดฟังเนื่องจากเกรงจะไม่ได้รับความปลอดภัย จนกระทั่งพันตำรวจเอกกำแหง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปสอบถามพยานเนื่องจากทราบจากเด็กชายเฉลิมชัยว่าขณะเกิดเหตุพบพยานอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ พยานจึงยอมรับว่าเห็นเหตุการณ์และบอกลักษณะรูปร่างคนร้ายให้ทราบโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร พันตำรวจเอกกำแหงได้ตามนายกุมภา พี่เขยผู้ตายให้มาพูดคุยกับพยานสองต่อสอง พยานจึงบอกนายกุมภาว่าคนร้ายคือจำเลย ต่อมาวันเดียวกันมีเจ้าพนักงานตำรวจไปตามพยานไปพบพลตำรวจตรีสัณฐาน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อซักถามเกี่ยวกับคนร้าย พยานเข้าใจว่านายกุมภาคงแจ้งเรื่องที่พยานรู้ตัวคนร้ายให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบแล้ว จึงขอร้องให้พลตำรวจตรีสัณฐานทำการสอบสวนพยานเป็นความลับโดยไม่ระบุชื่อพยานเป็นผู้ให้การ และให้การว่าจำเลยเป็นคนร้ายโดยพิมพ์ลายนิ้วมือของพยานในคำให้การแทนการลงลายมือชื่อเพื่อปกปิดชื่อของตน ต่อมาพนักงานสอบสวนเรียกพยานไปให้การเพิ่มเติมและให้ชี้ภาพถ่ายคนร้ายซึ่งพยานได้ชี้ภาพถ่ายจำเลยว่าเป็นคนร้ายแล้วจึงตัดสินใจให้เปิดเผยชื่อพยานเป็นผู้ให้การโดยเห็นแก่ความยุติธรรม จากคำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของนางอารี นางบุญเชิด ภรรยาผู้ตาย นางบุญให้ หรือขุ้ม และเด็กชายเฉลิมชัย จะเห็นได้ว่าเหตุที่มีการสอบสวนนางอารีเป็นพยานสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนทราบจากการสอบปากคำนางบุญเชิดและนางบุญให้ว่า หลังเกิดเหตุเด็กชายเฉลิมชัยเป็นคนไปแจ้งนางบุญให้ไปรับบุตรผู้ตายมาจากที่เกิดเหตุ จากนั้นพนักงานสอบสวนทราบจากเด็กชายเฉลิมชัยว่าขณะเกิดเหตุมีนางอารีขับรถจักรยานยนต์แซงเด็กชายเฉลิมชัยขึ้นไปซึ่งนางอารีน่าจะรู้เห็นเหตุการณ์ จึงติดตามนางอารีมาสอบสวนเพื่อรวบรวบพยานหลักฐานตามหน้าที่ โดยไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีเหตุที่จะโน้มน้าวให้นางอารีให้การปรักปรำจำเลยว่าเป็นคนร้ายแต่อย่างใด เชื่อได้ว่านางอารีให้การต่อพนักงานสอบสวนระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายด้วยความสมัครใจ พฤติการณ์ที่หลังเกิดเหตุนางอารีไม่ยอมบอกเล่าให้คนอื่นฟังว่าพบเห็นเหตุการณ์ที่ผู้ตายถูกยิง จนกระทั่งเมื่อพนักงานสอบสวนทราบจากปากคำพยานอื่นและเรียกนางอารีไปสอบสวน นางอารีก็ยังขอให้สอบสวนโดยไม่เปิดเผยชื่อตนเป็นผู้ให้การโดยอ้างว่ากลัวจะไม่ได้รับความปลอดภัย เมื่อพนักงานสอบสวนยินยอมตามความประสงค์นางอารีจึงยอมให้การว่าจำเลยเป็นคนร้าย แสดงออกถึงความเกรงกลัวของนางอารีที่มีต่ออิทธิพลของจำเลยเป็นอย่างมาก หากนางอารีมิได้เห็นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายอย่างแน่ชัดแล้วก็ไม่น่าจะกล้าให้การปรักปรำจำเลยว่าเป็นคนร้าย ตามคำให้การของนางอารีได้ความว่า เมื่อนางอารีขับรถจักรยานยนต์แซงพ้นรถจักรยานของเด็กชายเฉลิมชัย ในทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด แล้วเห็นผู้ตายยืนคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ข้างหน้า ผู้ตายค่อย ๆ ทรุดตัวล้มลง และเห็นจำเลยถืออาวุธปืนลูกซองยาวออกมาจากจุดไหนไม่ทันสังเกตเดินเข้าไปที่ผู้ตายและถืออาวุธปืนด้วยมือทั้งสองข้างจ่อยิงผู้ตายอยู่ห่างจากพยานประมาณ 1 เส้น แล้วจำเลยวิ่งหลบหนีไปทางข้างทางด้านซ้ายในขณะที่รถของพยานยังแล่นไปข้างหน้า เมื่อจำเลยหลบหนีเข้าป่าหญ้าข้างทางแล้ว รถจักรยานยนต์ของพยานก็ผ่านจุดที่ผู้ตายนอนอยู่ คำให้การของนางอารีดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของเด็กชายเฉลิมชัยที่ได้ความว่าหลังจากเสียงปืนดังขึ้นพยานเห็นรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลงอยู่ทางหน้าด้านขวาของพยาน และเห็นคนร้ายวิ่งมาจากทางด้านซ้ายเข้าไปใช้อาวุธปืนยาวลูกซองคู่ยิงผู้ตาย และสอดคล้องกับที่นางอารีเบิกความในชั้นพิจารณาว่า ขณะเกิดเหตุนางอารีขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากมีเสียงปืนดังพยานเห็นรถจักรยานยนต์ล้มลงห่างจากพยานประมาณ 50 ถึง 60 เมตร พยานชะลอความเร็วของรถลงและเห็นจำเลยเข้าไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนจำเลยวิ่งหลบหนีเข้าพงหญ้าข้างทางด้านซ้ายจึงขับรถจักรยานยนต์เลยไป มีน้ำหนักรับฟังได้ว่านางอารีให้การถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงที่ตนประสบ แสดงว่านางอารีได้เห็นจำเลยเข้าไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายตั้งแต่ระยะห่างประมาณ 1 เส้น และเห็นจำเลยในระยะใกล้ยิ่งขึ้นในขณะที่รถจักรยานยนต์แล่นต่อไปในระหว่างที่จำเลยวิ่งออกจากจุดที่ยิงผู้ตายผ่านหน้าพยานจนหลบหนีเข้าไปในป่าหญ้าข้างทางเป็นเวลานานพอสมควร นางอารีรู้จักจำเลยในฐานะที่เป็นลูกบ้านของจำเลยซึ่งเป็นกำนันเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ย่อมคุ้นเคยใบหน้าและลักษณะรูปร่างของจำเลยเป็นอย่างดี ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน นางอารีย่อมจำจำเลยว่าเป็นคนร้ายได้โดยไม่ผิดคน ที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของเด็กชายเฉลิมชัยและนางอารีฟังได้ว่า นางอารีขับรถจักรยานยนต์แซงเด็กชายเฉลิมชัยซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ก่อนมีเสียงปืนนัดแรกดังขึ้นประมาณ 5 นาที โดยนางอารีขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเกิดเหตุนางอารีจึงขับรถจักรยานยนต์เลยที่เกิดเหตุไปไกลมากและมิได้เห็นเหตุการณ์ นางอารีเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกับผู้ตาย นางอารีอ้างว่าเห็นผู้ตายซึ่งเป็นญาติถูกคนร้ายยิงแต่กลับไม่หยุดให้ความช่วยเหลือผู้ตายและบุตรของผู้ตาย ทั้งหลังเกิดเหตุไม่ได้เล่าเหตุการณ์ให้ผู้ใดฟังเป็นการผิดวิสัยคนทั่วไป จึงรับฟังไม่ได้ว่านางอารีเห็นเหตุการณ์จริง เห็นว่า ตามคำเบิกความของเด็กชายเฉลิมชัยหาได้เบิกความถึงระยะที่พยานอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุขณะนางอารีขับรถจักรยานยนต์แซงดังที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ คงปรากฏจากคำเบิกความของนางอารีว่าหลังจากขับรถจักรยานยนต์แซงเด็กชายเฉลิมชัยไปแล้วจึงมีเสียงปืนดังขึ้นและเห็นรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มอยู่ห่างประมาณ 50 ถึง 60 เมตร นอกจากนั้นเด็กชายเฉลิมชัยเบิกความลำดับเหตุการณ์ขัดแย้งกันในตัวเองรับฟังเอาแน่ไม่ได้ โดยเด็กชายเฉลิมชัยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยครั้งแรกว่า ขณะพยานหยุดดูเหตุการณ์เห็นนางอารีขับรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าพยานไป ทำให้เห็นว่ามีเสียงปืนดังขึ้นก่อนนางอารีจะขับรถจักรยานยนต์มาถึงเด็กชายเฉลิมชัย แต่เด็กชายเฉลิมชัยกลับเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยต่อมาว่า ขณะเสียงปืนดังนางอารีขับรถจักรยานยนต์ผ่านไปแล้วไม่นานน่าจะไม่ถึง 5 นาที และเบิกความตอบศาลว่า นางอารีขับรถจักรยานยนต์แซงไปก่อนได้ยินเสียงปืน การที่เด็กชายเฉลิมชัยซึ่งขณะเบิกความมีอายุเพียง 10 ปี เบิกความกลับไปกลับมาดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเกิดจากความสับสนเพราะความที่ยังเป็นเด็กอายุน้อยทำให้ไม่สามารถเข้าใจคำถามของทนายจำเลยได้อย่างถ่องแท้ ดังนั้น จึงจะนำการลำดับเหตุการณ์ตามคำเบิกความของเด็กชายเฉลิมชัยมาเป็นเหตุรับฟังว่านางอารีให้การขัดแย้งต่อความเป็นจริงมิได้ แม้จะได้ความว่านางอารีมิได้หยุดรถช่วยเหลือผู้ตายและบุตรของผู้ตายซึ่งเป็นหลาน แต่ตามพฤติการณ์มีเหตุผลให้เชื่อว่าเหตุดังกล่าวเป็นเพราะนางอารีเห็นว่าผู้ตายถูกจ่อยิงเชื่อว่าถึงแก่ความตายแล้วและเกิดความเกรงกลัวว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยมากกว่าจะฟังว่านางอารีมิได้เห็นเหตุการณ์จริงดังที่จำเลยฎีกา การที่นางอารีกลับมาเบิกความอ้างว่าเห็นคนร้ายเพียงด้านข้างจำไม่ได้ว่าเป็นใคร หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่มีเหตุให้นางอารีต้องกลัวอันตรายถึงกับต้องปกปิดไม่ให้ผู้อื่นรู้ว่าเห็นเหตุการณ์ โดยนางอารีน่าจะไปให้การเป็นพยานเพื่อบอกลักษณะรูปร่างและการแต่งกายของคนร้ายเพื่อประโยชน์ในการสืบหาตัวคนร้ายของเจ้าพนักงานตำรวจมากกว่า การที่นางอารีไม่กล้าเปิดเผยว่าตนเป็นผู้เห็นเหตุการณ์จึงต้องเกิดจากการที่นางอารีรู้จักคนร้ายและรู้ว่าคนร้ายเป็นผู้มีอิทธิพลเป็นที่ยำเกรงของคนในท้องถิ่นและเกิดความเกรงกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากการเป็นพยาน แม้คำให้การชั้นสอบสวนของนางอารีจะเป็นพยานบอกเล่าแต่เมื่อประกอบคำเบิกความของเด็กชายเฉลิมชัยที่ยืนยันว่าขณะเกิดเหตุนางอารีขับรถจักรยานยนต์อยู่ใกล้เคียงจุดเกิดเหตุและพฤติการณ์แวดล้อมมีน้ำหนักให้รับฟังว่านางอารีเห็นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและจำจำเลยได้จริงแต่กลับมาเบิกความว่าจำคนร้ายไม่ได้เพราะมีความเกรงกลัวที่จะเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายต่อหน้าจำเลยในห้องพิจารณา พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองที่นำสืบมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายตามฟ้อง ที่จำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยาน หลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายและพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน