คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่าโดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่ ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไปข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันธ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากตึกแถวเลขที่ 283/6 – 7 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 30361 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 225,000 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวดังกล่าวเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวสองชั้นเลขที่ 238/6 – 7 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 7,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวดังกล่าวจนเสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับและให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาเช่าระหว่างนางอรียากับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าและมีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมตึกแถวพิพาทเลขที่ 238/6 – 7 เป็นกรรมสิทธิ์ของนางอรียาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2537 นางอรียาได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี โดยไม่ได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยจำเลยที่ 2 ได้ออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งขณะนั้นยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจำนวน 900,000 บาท ตามสัญญาเพื่อรับสิทธิการเช่าและสัญญาเช่าอาคารเอกสารหมาย ป.ล.1 และ ป.ล.2 ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2545 นางอรียาได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 30361 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท พร้อมตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์หลังจากที่จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมาแล้วเกินสามปี โจทก์จึงได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองออกไปจากตึกแถวพิพาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย เห็นว่า การที่นางอรียาให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาทซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้นางอรียาจำนวน 900,000 บาท ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่าโดยถือเป็นข้อตกลงที่นางอรียาจะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่างนางอรียาและจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญาด้วยไม่ ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา เมื่อข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทนนางอรียาที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไปข้อตกลงระหว่างนางอรียากับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share