คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7893/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 นอกจากบัญญัติห้ามการปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำเข้าไปในน้ำอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าแล้ว ยังบัญญัติรวมถึงการนำสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในน้ำด้วย การปรับพื้นถมดินล่วงล้ำเข้าไปในลำน้ำตามฟ้องถือว่าเป็นการนำสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในน้ำ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 3, 117, 118
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 (ที่ถูก 117 วรรคหนึ่ง), 118 ให้ปรับ 752,100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 376,050 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้ก่อสร้างเขื่อนกันน้ำเซาะล่วงล้ำเข้าไปในลำน้ำของแม่น้ำแควน้อย รวมเนื้อที่ 1,504.20 ตารางเมตร ตามฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยก่อสร้างเขื่อนกันน้ำเซาะ โดยการปรับพื้นถมดินและเรียงหินการ์เบี้ยนกันน้ำเซาะล่วงล้ำเข้าไปในลำน้ำของแม่น้ำแควน้อย อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีลักษณะและขนาดตามภาพถ่ายเขื่อนกันน้ำเซาะและภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุทางอากาศ รวม 3 แผ่น ท้ายฟ้อง คิดเป็นเนื้อที่ที่ล่วงล้ำทั้งหมด 1,504.20 ตารางเมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยก่อสร้างเขื่อนกันน้ำเซาะล่วงล้ำเข้าไปในลำน้ำของแม่น้ำแควน้อย โดยกระทำการปรับพื้นถมดินประการหนึ่ง และการเรียงหินการ์เบี้ยนอีกประการหนึ่ง รวมเนื้อที่ 1,504.20 ตารางเมตร จำเลยไม่อาจอุทธรณ์โต้แย้งได้ว่า จำเลยกระทำผิดเฉพาะการเรียงหินการ์เบี้ยนล่วงล้ำเข้าไปในลำน้ำเท่านั้น โดยไม่นับรวมพื้นดินหรือเนินดินและแอ่งน้ำที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ขอให้ตรวจสอบพื้นที่ใหม่ ในทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำผิดเท่าเนื้อที่ที่โจทก์ฟ้อง เพราะขัดกับที่จำเลยให้การรับสารภาพ อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาในทำนองว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย ขอให้ลงโทษปรับน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 อันมีผลทำนองเดียวกับการอุทธรณ์ขอให้ลดโทษ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยตารางเมตรละ 500 บาท ซึ่งเป็นอัตราโทษขั้นต่ำที่สุดตามกฎหมาย ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยปัญหาในอุทธรณ์ของจำเลยในข้อดังกล่าวแล้ว สำหรับฎีกาจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มิได้บัญญัติให้คำนวณตามเนื้อที่ที่ล่วงล้ำเข้าไปในลำน้ำและมิได้บัญญัติให้คำนวณโดยรวมเอาพื้นที่ภายในที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติมาคำนวณให้จำเลยต้องรับโทษเพิ่มขึ้นนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 นอกจากบัญญัติห้ามการปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำเข้าไปในน้ำอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าแล้ว ยังบัญญัติรวมถึงการนำสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในน้ำด้วย การปรับพื้นถมดินล่วงล้ำเข้าไปในลำน้ำตามฟ้องถือว่าเป็นการนำสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในน้ำ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 แล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share