คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีก่อนมีเจตนาเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1และที่ 2 ในคดีนี้ มีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเจตนาของการกระทำผิดทั้งสองข้อหาแตกต่างกันการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1และที่ 2 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) หลังจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่นำโทษจำคุกของจำเลยที่ 2ที่รอไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้แล้ว โจทก์ไม่อุทธรณ์ ถือว่าโจทก์พอใจในคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนการพิจารณาพิพากษาชั้นอุทธรณ์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 บัญญัติว่าคดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น ฉะนั้นเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ปัญหาเรื่องการบวกโทษแล้ว บทบัญญัติมาตรานี้ห้ามศาลอุทธรณ์นำเรื่องการบวกโทษขึ้นมาวินิจฉัยอีก เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่ามีอำนาจบวกโทษจำเลยที่ 2 ได้เองจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274, 83, 91และ 58 และบวกโทษของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4883/2534 ของศาลแขวงดุสิต เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2ให้คดีนี้
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1และที่ 2 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือนถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บวกโทษจำคุก 3 เดือนของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4883/2534ของศาลแขวงดุสิต เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาข้อแรกว่าโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5214/2534 ของศาลแขวงตลิ่งชัน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) หรือไม่ จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกาว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 และมาตรา 275 เจ้าพนักงานจับกุมในวันเดียวกัน ของกลางที่ยึดเป็นของกลางเดียวกัน และต่อมาได้มีการทำลายของกลางไปแล้ว ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีก่อน มีเจตนาเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ มีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเจตนาของการกระทำผิดทั้งสองข้อหาแตกต่างกันการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันโจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) นั้น ชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจนำโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4883/2534 ของศาลแขวงดุสิต มาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ได้หรือไม่ ข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้มิได้เกิดขึ้นภายในกำหนดเวลาที่ศาลให้รอการลงโทษในคดีก่อน จึงนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกกับโทษจำคุกในคดีนี้ไม่ได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎแก่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เองว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดคดีนี้ภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก นั้น เห็นว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่นำโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้แล้ว โจทก์ไม่อุทธรณ์ ถือว่าโจทก์พอใจในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนการพิจารณาพิพากษาชั้นอุทธรณ์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 บัญญัติว่า คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ปัญหาเรื่องการบวกโทษแล้ว บทบัญญัติมาตรานี้ห้ามศาลอุทธรณ์นำเรื่องการบวกโทษขึ้นมาวินิจฉัยอีก เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่ามีอำนาจบวกโทษจำเลยที่ 2ได้เองนั้นจึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share