คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7873/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินโจทก์ ได้ปลูกสร้างอาคารชุดสูง 33 ชั้น จำนวน 4 อาคาร เพื่อขายหรือให้เช่า ระหว่างก่อสร้างอาคารดังกล่าว บ้านและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์เกิดความเสียหาย ดังนี้ จำเลยเป็นเจ้าของโครงการอาคารชุดและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารในโครงการทั้งหมด แม้จำเลยจะทำสัญญาว่าจ้างบริษัทอื่นให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนต่าง ๆ แทน แต่จำเลยก็ยังคงเป็นเจ้าของกิจการก่อสร้างในโครงการทั้งหมด และตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าว เช่น สัญญาซื้อเสาเข็มคอนกรีตปรากฏตามสัญญาว่า จำเลยจะต้องจัดหาสถานที่สำหรับกองเสาเข็มและจัดทำทางเพื่อให้รถบรรทุกเสาเข็มเข้าไปส่งยังจุดทำงานได้โดยสะดวก และสัญญาว่าจ้างตอกเสาเข็มปรากฏตามสัญญาว่า จำเลยต้องรับผิดชอบกรณีที่มีความเสียหายของอาคารข้างเคียงเนื่องจากความสั่นสะเทือนหรือจากแรงดันของดินจากการตอกเสาเข็ม เช่นนี้ถือว่าจำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งสองในฐานะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ ตามป.พ.พ.มาตรา 428
คู่ความแถลงร่วมกันให้กรมโยธาธิการประเมินความเสียหายเกี่ยวกับตัวอาคารพิพาทและกรมโยธาธิการได้จัดส่งเอกสารสรุปผลการประเมินราคาค่าก่อสร้างมาให้แล้ว ซึ่งคู่ความยอมรับราคากลางที่กรมโยธาธิการเสนอมาและขออ้างส่งต่อศาล เป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลเกี่ยวกับปริมาณค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองโดยมีเงื่อนไขว่าให้เป็นไปตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคา คู่ความทั้งสองฝ่ายย่อมต้องถูกผูกพันเป็นยุติตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคามา จะโต้แย้งเป็นอย่างอื่น หรืออ้างความเห็นของพยานคนใดมาหักล้างมิได้
การก่อสร้างอาคารตามโครงการของจำเลยเริ่มตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปี 2537 ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสองนั้น เป็นผลมาจากการดำเนินการก่อสร้างของจำเลยมิได้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วเสร็จสิ้นไปหากแต่เกิดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะ ๆ ตราบเท่าที่ยังมีการก่อสร้างตามโครงการของจำเลย โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยได้ให้ พ. เข้าไปซ่อมบ้านของโจทก์ทั้งสองจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 อันถือเป็นการที่ลูกหนี้ได้กระทำการอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้รายนี้ เป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,147,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,763,563 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209011 , 209012 และ 209013 ตำบลสวนหลวง (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209014 ตำบลสวนหลวง (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และโจทก์ทั้งสองได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินทั้ง 4 แปลง จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินโจทก์ทั้งสองได้ปลูกสร้างอาคารชุดสูง 33 ชั้น จำนวน 4 อาคาร เพื่อขายหรือให้เช่าใช้ชื่อโครงการว่า “ฟลอราวิลล์” การบริหารโครงการของจำเลย นายสุบรรณพนักงานของจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมโครงการ ระหว่างก่อสร้างอาคารตามโครงการของจำเลยบ้านและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกิดความเสียหาย
มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า โครงการนี้จำเลยว่าจ้างบริษัทอื่นดำเนินการจำเลยมิได้เป็นผู้ผิดในการว่าจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของโครงการอาคารชุดและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในโครงการทั้งหมด แม้จำเลยจะทำสัญญาว่าจ้างบริษัทอื่นให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนต่าง ๆ แทน แต่จำเลยก็ยังคงเป็นเจ้าของกิจการก่อสร้างในโครงการทั้งหมด และตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าว เช่น สัญญาซื้อเสาเข็มคอนกรีตว่าจำเลยจะต้องจัดหาสถานที่สำหรับกองเสาเข็มและจัดทำทางเพื่อให้รถบรรทุกเสาเข็มเข้าไปส่งยังจุดทำงานได้โดยสะดวก และสัญญาว่าจ้างตอกเสาเข็มว่า จำเลยต้องรับผิดชอบกรณีที่มีความเสียหายของอาคารข้างเคียงเนื่องจากความสั่นสะเทือนหรือจากแรงดันของดินจากการตอกเสาเข็ม เช่นนี้ถือว่า จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งสองในฐานะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 428
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีเพียงใด เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2539 ปรากฏข้อความว่า “คู่ความแถลงร่วมกันว่าได้ให้กรมโยธาธิการประเมินความเสียหายเกี่ยวกับตัวอาคารพิพาท และทางกรมโยธาธิการได้จัดส่งเอกสารสรุปผลการประเมินราคาก่อสร้างมาให้แล้ว ราคาดังกล่าวเป็นความเสียหายที่สำรวจตามสภาพที่มองเห็น ซึ่งคู่ความยอมรับราคากลางที่กรมโยธาธิการเสนอมา คู่ความขออ้างส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาล” คำแถลงของคู่ความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลเกี่ยวกับปริมาณค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองโดยมีเงื่อนไขว่าให้เป็นไปตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคา คู่ความทั้งสองฝ่ายย่อมต้องถูกผูกพันเป็นยุติตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคามา จะโต้แย้งเป็นอย่างอื่นหรืออ้างความเห็นของพยานคนใดมาหักล้างมิได้
ปัญหาประการต่อไปมีว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2ได้ความว่า ความเสียหายของอาคารสิ่งปลูกสร้างเกิดก่อนเดือนกรกฎาคม 2533 มิใช่เกิดต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ตราบเท่าที่มีการก่อสร้างตามโครงการของจำเลยอยู่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และในปี 2535 ไม่มีการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ทั้งสองและไม่มีการรับสภาพหนี้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า การก่อสร้างอาคารตามโครงการของจำเลยเริ่มตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปี 2537 ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสองอันเป็นผลมาจากการดำเนินการก่อสร้างดังกล่าวของจำเลยมิได้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วเสร็จสิ้นไป หากแต่เกิดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะ ๆ ตราบเท่าที่ยังมีการก่อสร้างตามโครงการของจำเลยอยู่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ตรวจดูคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 แล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ได้เบิกความเกี่ยวกับจำเลยให้นายพิทักษ์เข้ามาซ่อมแซมบ้านโจทก์ทั้งสองจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 แล้วไม่มีการซ่อมอีกดังกล่าวข้างต้นนั้น ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยได้ให้นายพิทักษ์เข้าไปซ่อมบ้านของโจทก์ทั้งสองจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 อันถือเป็นการที่ลูกหนี้ได้กระทำการอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้รายนี้ เป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1)
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 30,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง.

Share