แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเงินเบิกเกินบัญชี แม้ไม่ระบุวงเงินค้ำประกันโดยตรงแต่ความในสัญญาค้ำประกันที่ระบุว่า เนื่องในการที่โจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาลงวันที่ 21 มกราคม 2528 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท ตามสัญญาลงวันที่ 3 มีนาคม 2532 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท และตามสัญญาลงวันที่ 27 มิถุนายน 2533 เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท นั้น ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่าผู้ค้ำประกันมีเจตนาเข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะต้นเงินที่เบิกเงินเกินบัญชีไม่เกิน 690,000 บาท เท่านั้น ส่วนที่ผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงโดยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญานั้น หมายถึงผู้ค้ำประกันยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยสละสิทธิให้โจทก์เรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 1 หรือทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 691 เท่านั้น มิใช่เป็นข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน ดังนั้น ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีย่อมมีผลให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะในต้นเงินไม่เกิน 690,000 บาท กับดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น ส่วนสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นเพียงการที่จำเลยที่ 3 ให้หลักประกันเพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินไม่เกิน 690,000 บาท เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้หลักประกันใหม่โดยไม่จำกัดจำนวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2528 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 300,000 บาท ต่อมาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์อีก 2 ครั้ง รวมวงเงินทั้งสิ้น 690,000 บาท มีจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกับชำระเงินจำนวน 2,230,225.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,048,341.42 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าได้ไม่พอให้จำเลยทั้งสามใช้ส่วนที่ขาดจนครบแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 555,493.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2019 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าได้ไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 300,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 21 มกราคม 2529 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังคงเบิกจ่ายเงินอยู่อีกต่อไป ก็ให้ถือว่าเงินที่เบิกไปนั้นเป็นหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสิ้นตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์อีก 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 300,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 21 มกราคม 2533 ตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 90,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 29 มกราคม 2534 ตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.8 รวมเป็นเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสิ้น 690,000 บาท และจำเลยที่ 3 ได้เข้าค้ำประกันหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 3 ครั้งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวในลักษณะยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 โดยตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.9 จำเลยที่ 3 ยินยอมให้ถือเอาการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2019 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.14 ที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.9 นั้นด้วย และตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 จำเลยที่ 3 ยังได้มอบบัญชีเงินฝากประจำรวม 10 บัญชี และทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์สามารถนำเงินจากบัญชีดังกล่าวรวมทั้งดอกเบี้ยมาชำระหนี้แก่โจทก์โดยการหักกลบลบหนี้ได้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาจนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2534 บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกัน ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์อยู่จำนวน 1,851,570.19 บาท และต่อมาโจทก์ได้โอนเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ทั้ง 10 บัญชีมาหักชำระหนี้ดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 3 ได้มอบอำนาจให้ไว้ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 จำเลยที่ 1 จึงคงเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์จำนวน 555,493.43 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนวนดังกล่าวในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันโดยไม่จำกัดวงเงินและในฐานะผู้จำนองตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 แม้ไม่ระบุวงเงินค้ำประกันโดยตรงก็ตามแต่ความในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวในข้อ 1 ที่ระบุว่า เนื่องในการที่โจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาลงวันที่ 21 มกราคม 2528 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท ตามสัญญาลงวันที่ 3 มีนาคม 2532 เป็นจำนวน 300,000 บาท และตามสัญญาลงวันที่ 27 มิถุนายน 2533 เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท นั้นผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ค้ำประกันมีเจตนาเข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะต้นเงินที่เบิกเงินเกินบัญชีไม่เกิน 690,000 บาท เท่านั้น มิได้หมายความว่าหากจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 690,000 บาท ดังกล่าวแล้ว ผู้ค้ำประกันได้ตกลงค้ำประกันในหนี้ส่วนที่เบิกเกินวงเงินดังกล่าวด้วยแต่อย่างใด ส่วนที่ผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงโดยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามความในตอนท้ายของสัญญาข้อ 1 และข้อ 3 วรรค 2 นั้นก็หมายถึงผู้ค้ำประกันยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 เท่านั้น มิใช่เป็นข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 ย่อมมีผลให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะในต้นเงินไม่เกิน 690,000 บาท กับดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น ในส่วนสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 นั้น คงเป็นเพียงการที่จำเลยที่ 3 ให้หลักประกันเพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินไม่เกิน 690,000 บาท จึงมีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองดังกล่าวแก่โจทก์ในต้นเงินไม่เกินจำนวน 690,000 บาท หาใช่ต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันฐานะหนึ่งและฐานเป็นผู้จำนองตามสัญญาจำนองอีกฐานะหนึ่งดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่และเมื่อไม่ปรากฏว่าเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยตามบัญชีเงินฝากทั้ง 10 บัญชี ที่จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ถอนมาชำระหนี้ได้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 มีจำนวนไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้ต้นเงิน 690,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ประการใดแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน