แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประเด็นข้อพิพาทเกิดจากประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งจำเลยให้การโต้แย้ง แต่ประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องที่จำเลยมิได้ให้การโต้แย้งไว้หรือยอมรับก็ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องนำสืบ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะหยิบยกประเด็นแห่งคดีที่ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทมาวินิจฉัยได้ และเมื่อเห็นว่าพิจารณาประเด็นแห่งคดีแล้วสามารถพิพากษาคดีได้ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อใดก็ได้
โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อความว่า โจทก์และจำเลยพร้อมกันจะไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรี ในวันที่ 16 กันยายน 2537 เวลา 10 นาฬิกา และตกลงกันว่าถ้าดำเนินการรังวัดตาม ส.ค.1 แล้ว ที่ดินโดยการครอบครองของโจทก์อยู่ใน ส.ค.1 จำนวนเท่าใด ก็ให้เป็นของโจทก์จำนวนเท่านั้น จำเลยให้การเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ. 2 เพียงว่า เอกสารหมาย จ.2 ไม่ปรากฏข้อตกลงว่าให้ร่วมกันร้องขอออกโฉนดที่ดินแต่อย่างใด ถือว่าจำเลยมิได้โต้แย้งปฏิเสธว่ามิได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 จริง เมื่อบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นสัญญาซึ่งคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาท ซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นการประนีประนอมยอมความตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งได้มีหลักฐานเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 851 จำเลยย่อมต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีร่วมกับโจทก์เพื่อขอรังวัดที่ดินและขอออกโฉนดที่ดิน ตามข้อตกลงที่ทำเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๗ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยห้ามจำเลยและบริวารบุกรุกหรือรบกวนที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินโดยขออาศัยจากมารดาจำเลย ไม่มีการล้อมรั้ว โจทก์ทิ้งร้างบ้านไปประมาณ ๑๐ ปีแล้ว โจทก์จำเลยเคยทำบันทึกข้อตกลงต่อหน้ากำนัน ต่อมาทำความตกลงต่อหน้าปลัดอำเภอ เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของจำเลย เนื่องจากโจทก์กับพวกอ้างว่าบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้ ครั้งแรกเป็นโมฆะ บันทึกข้อตกลงครั้งหลังมิได้กำหนดว่าต้องร่วมกันขอออกโฉนดที่ดิน คำขอท้ายฟ้องที่ให้มีการ ขอออกโฉนดที่ดินจึงเกินเลยจากที่ตกลงกัน ที่ดินที่โจทก์ครอบครองมีเนื้อที่ไม่ถึง ๕๐ ตารางวา จำเลยเคยขอรังวัดที่ดินแต่ถูกโจทก์ มารดาโจทก์ และผู้ครอบครองที่ดินทางด้านทิศตะวันตกคัดค้าน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับ ให้จำเลยไปดำเนินการร่วมกับโจทก์ยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอรังวัดที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๑๕ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลเขาสมอดอน อำเภอท่ารุ้ง จังหวัดลพบุรี ให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๗ ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.๒ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาล แทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารบุกรุกหรือรบกวนที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครอง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรังฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปี ๒๕๑๔ โจทก์ปลูกบ้านในที่ดิน ส.ค.๑ เลขที่ ๑๕ ทางทิศตะวันออก คือที่ดินพิพาท โดยได้รับอนุญาตจากนายอ๋อย พงษ์พรหม เจ้าของที่ดิน ต่อมานายอ๋อยถึงแก่กรรม จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายอ๋อยโดยคำสั่งศาล เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย คณะกรรมการหมู่บ้านได้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและมีการทำบันทึกข้อตกลงตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.๒ ต่อมาโจทก์จำเลยเกิดโต้แย้งกันอีก แล้วได้มีการทำบันทึกข้อตกลงกันอีกโดยนายสิริชัย แตงสกุล ปลัดอำเภอท่ารุ้ง เป็นผู้ทำตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.๒ แต่ไม่มีการนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดิน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกา ของจำเลยว่า ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในการชี้สองสถานไว้ ๒ ข้อ คือ ๑. ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่เพียงใด และ ๒. บันทึกข้อตกลงที่ทำต่อหน้าปลัดอำเภอมีข้อกำหนดว่า ต้องร่วมกันออกโฉนดที่ดินหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ จะต้องวินิจฉัยทั้งสองประเด็น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้ที่ดินตามบันทึก เนื่องจากจำเลยทำบันทึกด้วยความสมัครใจ จึงไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทนั้นเกิดจากประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งจำเลยให้การโต้แย้ง แต่ประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องที่จำเลยมิได้ให้การโต้แย้งไว้หรือยอมรับ ก็ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องนำสืบ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะหยิบยกประเด็นแห่งคดีที่ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็น ข้อพิพาทมาวินิจฉัยได้ และเมื่อเห็นว่าพิจารณาประเด็นแห่งคดีแล้วสามารถพิพากษาคดีได้ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อใดก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีที่ว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.๒ ใช้บังคับได้โจทก์จึงมีสิทธิได้ที่ดินตามบันทึกดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดี ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.๒ อันมีข้อความว่าโจทก์และจำเลยพร้อมกันจะไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรี ในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๗ เวลา ๑๐ นาฬิกา และตกลงกันว่าถ้าดำเนินการรังวัดตาม ส.ค.๑ แล้วที่ดิน โดยการครอบครองของโจทก์อยู่ใน ส.ค.๑ จำนวนเท่าใด ก็ให้เป็นของโจทก์จำนวนเท่านั้น แต่จำเลยให้การเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.๒ เพียงว่า จากเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ (คือเอกสารหมาย จ.๒) ไม่ปรากฏข้อตกลงว่าให้ร่วมกัน ร้องขอออกโฉนดที่ดินแต่อย่างใดถือว่าจำเลยมิได้โต้แย้งปฏิเสธว่ามิได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.๒ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.๒ จริง เมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.๒ แล้วเป็นสัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาท ซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นการประนีประนอมยอมความตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ซึ่งได้มีหลักฐาน เป็นหนังสือและลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดจึงฟ้องร้องให้บังคับตามสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๑ จำเลยย่อมต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็น ข้อพิพาทที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่เพียงใด เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน .