คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7849/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน45,000บาทและค่าเช่าซื้อที่ขาดจำนวน301,800บาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเฉพาะค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน15,000บาทแก่โจทก์โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นในส่วนค่าเช่าซื้อที่ขาดเป็นเงิน301,800บาทจำเลยที่1แก้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่1เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน15,000บาทแม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าเช่าซื้อที่ยังขาดเพิ่มขึ้น200,000บาทแล้วจำเลยที่1ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ก็ตามทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของจำเลยที่1ย่อมต้องคำนวณหักค่าเสียหายซึ่งจำเลยที่1พอใจตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน15,000บาทออกทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน200,000บาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง ตามข้อสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดไว้ว่าผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบความหมายของคำว่า”ยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก”มีว่าผู้เช่าซื้อจะต้องชำระราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่จนครบตามที่ระบุไว้ในสัญญาเป็นสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อถือว่าเป็นข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายเป็นการกำหนดเบี้ยปรับกันไว้ล่วงหน้าเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกนี้จึงมิใช่เป็นกรณีที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างดังนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกร้องมาตามสัญญาเช่าซื้อในส่วนที่เป็นค่าเสื่อมราคาหรือแทนค่าเสื่อมราคาแต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังวินิจฉัยต่อไปว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับซึ่งถ้าสูงเกินส่วนย่อมลดลงได้ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องหรืออุทธรณ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 ที่จำเลยฎีกาว่ากรณีน่าเชื่อว่าโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นโจทก์ได้รับประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อคุ้มกับเงินที่โจทก์ลงทุนแล้วและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเพิ่มขึ้น200,000บาทเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยมาแล้วยังไม่คุ้มกับความเสียหายในส่วนนี้เมื่อพิจารณาทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้วเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์200,000บาทจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเห็นพ้องกับศาลล่างทั้งสองว่าตามสัญญาเช่าซื้อดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18ต่อปีเป็นเบี้ยปรับแต่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยเป็นเงินจำนวนสูงมากกว่าค่าขาดประโยชน์ใช้สอยรายเดือนเป็นจำนวนมากเงินส่วนค่าดอกเบี้ยที่เป็นเบี้ยปรับจึงซ้ำซ้อนกับเบี้ยปรับที่โจทก์ได้รับไว้และมีจำนวนมากเกินควรแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจำนวนนี้อีกนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดเบี้ยปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรโดยให้โจทก์ได้รับเบี้ยปรับเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ที่จำเลยว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์เดือนละ5,000บาทเป็นเงิน15,000บาทค่าเสียหายในส่วนนี้สูงเกินควรเพราะโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยไปเป็นจำนวนมากคุ้มประโยชน์ของโจทก์แล้วขอให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เสียนั้นเห็นว่าปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้อุทธรณ์และจำเลยแก้อุทธรณ์ว่าจำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการขาดประโยชน์ของโจทก์15,000บาทแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสันจากโจทก์ 1 คัน ในราคา 1,264,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา250,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็น 30 งวด งวดละเดือนเดือนละ 33,800 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 4 งวดแล้วผิดนัดตั้งแต่งงวดที่ 5 ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2534 สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกันทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวแต่จำเลยที่ 1ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2534โจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ รถยนต์ที่เช่าซื้อมีสภาพเสียหายโจทก์นำออกขายได้ 577,000 บาท ราคารถยนต์ยังขาดอยู่อีก301,800 บาท โจทก์ขาดประโยชน์โดยโจทก์อาจนำรถยนต์ที่เช่าซื้อให้เช่าได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเป็นเงิน 45,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 346,800 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 346,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เสียหายหรือขาดประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง ค่าขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าสูงเกินส่วนความจริงแล้วโจทก์อาจนำรถยนต์ออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ด้วยความระมัดระวังสภาพรถยนต์ไม่ได้เสื่อมโทรมตามที่โจทก์อ้าง ราคารถยนต์ที่ขาดเป็นเพราะความผิดของโจทก์ที่ละราคารถยนต์ ลงมา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกราคาที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 15,000 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เพิ่มขึ้น 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 215,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 45,000 บาท และค่าเช่าซื้อที่ขาดจำนวน 301,800 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น346,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเฉพาะค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 15,000 บาท แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นในส่วนค่าเช่าซื้อที่ขาดเป็นเงิน 301,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 15,000 บาท แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินเป็นค่าเช่าซื้อที่ยังขาดเพิ่มขึ้น 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 215,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ฎีกาของให้ยกฟ้องโจทก์ก็ตามทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องคำนวณหักค่าเสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 พอใจตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 15,000 บาท ออก ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งมีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 9 เป็นการกำหนดเบี้ยปรับกันไว้ล่วงหน้าหรือเป็นกรณีที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 จำเลยที่ 1ได้เช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและหนังสือประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง4 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ งวดที่ 5 ประจำวันที่1 กรกฎาคม 2534 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวแต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ วันที่ 14 ตุลาคม2534 โจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ และนำออกขายได้ราคา577,000 บาท ราคารถยนต์ยังขาดอยู่ 301,800 บาท พิเคราะห์แล้วตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 9 ระบุว่า “เมื่อเจ้าของรับหรือยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนมาได้แล้วเจ้าของอาจเลือกใช้สิทธิที่จะนำทรัพย์สินที่เช่าซื้อออกขายโดยเปิดเผยกับบุคคลใดเป็นราย ๆ ไป หรือโดยวิธีประมูล หรือโดยวิธีการขายทอดตลาด ตามราคาที่เจ้าของเห็นสมควรโดยเจ้าของมิจำต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อทราบ จำนวนเงินที่ขายได้หากมีการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าซื้อก่อนขายให้เจ้าของหักเงินค่าซ่อมแซมออกจากราคาที่ขายได้ เหลือเท่าใดให้นำไปชำระราคาค่าเช่าซื้อที่ยังคงเหลืออยู่รวมทั้งค่าภาษีหากจะพึงมีกับค่าใช้จ่ายอื่นตามที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่จะต้องชำระตามสัญญานี้และผู้เช่าซื้อให้สัญญาว่า หากราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อซึ่งได้ขายไปไม่พอชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกให้กับเจ้าของจนครบ” เห็นว่า ตามข้อสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวที่กำหนดไว้ว่า ผู้เช่าซื้อคือจำเลยที่ 1 ยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกให้แก่เจ้าของคือโจทก์จนครบ ความหมายของคำว่า “ยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก” มีว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่จนครบตามที่ระบุไว้ในสัญญา เป็นสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อ ถือว่าเป็นข้อตกลงเรื่องค่าเสียหาย เป็นการกำหนดเบี้ยปรับกันไว้ล่วงหน้า เงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกนี้จึงมิใช่เป็นกรณีที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้าง แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกร้องมาตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 9 ในส่วนที่เป็นค่าเสื่อมราคาหรือแทนค่าเสื่อมราคา แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังวินิจฉัยต่อไปว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับซึ่งถ้าสูงเกินส่วนย่อมลดลงได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องหรืออุทธรณ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 แต่อย่างใด
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า กรณีน่าเชื่อว่าโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น โจทก์ได้รับประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อคุ้มกับเงินที่โจทก์ลงทุนแล้ว และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเพิ่มขึ้น 200,000 บาท เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนนั้น เห็นว่า เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1มาแล้ว ยังไม่คุ้มกับความเสียหายในส่วนนี้ เมื่อพิจารณาทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ 200,000 บาท จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เห็นพ้องกับศาลล่างทั้งสองว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 7 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับ แต่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวนสูงมากกว่าค่าขาดประโยชน์ใช้สอยรายเดือนเป็นจำนวนมากเงินส่วนค่าดอกเบี้ยที่เป็นเบี้ยปรับจึงซ้ำซ้อนกับเบี้ยปรับที่โจทก์ได้รับไว้และมีจำนวนมากเกินควรแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจำนวนนี้อีกนั้น เห็นว่า เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดเบี้ยปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควร โดยให้โจทก์ได้รับเบี้ยปรับเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้นเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาทเป็นเงิน 15,000 บาท ค่าเสียหายในส่วนนี้สูงเกินควร เพราะโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำนวนมากคุ้มประโยชน์ของโจทก์แล้วขอให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เสียนั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ และจำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายในการขาดประโยชน์ของโจทก์ 15,000 บาท แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share