แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทโจทก์ บริษัท อ. และบริษัท ฮ. ต่างเป็นบริษัทลูกของบริษัทแม่ด้วยกันย่อมรู้ข้อมูลทางการเงินซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี วันที่ 9 กันยายน 2549 โจทก์ให้บริษัท ฮ. กู้ยืมเงินเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่บริษัท อ. ตามความต้องการของบริษัทแม่ วันที่ 6 ตุลาคม 2549 บริษัท ฮ. ออกหุ้นเพิ่มทุน 252,500,000 บาท ขายให้โจทก์แต่ผู้เดียว โดยโจทก์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระค่าหุ้น แล้ว บริษัท ฮ. สลักตั๋วให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 บริษัท ฮ. จดทะเบียนเลิกบริษัท และวันที่ 26 ธันวาคม 2549 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ขณะโจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ฮ. ปรากฏว่าผลการดำเนินงานของบริษัท ฮ. มีผลขาดทุนสะสมมาตลอด และได้หยุดการดำเนินกิจการชั่วคราวบริษัท ฮ. ไม่ได้นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการแปลงหนี้เป็นทุนตามที่โจทก์อ้างว่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อหวังเงินปันผลจากการดำเนินกิจการของบริษัท ฮ. รายจ่ายผลขาดทุนจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุน 252,500,000 บาท จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามนำเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ ภงด.73.1 – 01003071 – 25550822 – 022 – 00003 ถึง 00005 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2555 หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิที่ กค 0707.03 (ก12.2)/010807 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2555 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ สภ.1 (อธ.2)/365 – 368/2557 ลงวันที่ 23 กันยายน 2557 งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด และโจทก์เป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกัน โดยมีบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ปี 2548 บริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) ตกลงขายทรัพย์สินและเงินลงทุนในกิจการต่าง ๆ ให้แก่บริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด แต่บริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด ไม่ต้องการหุ้นที่บริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ถืออยู่ในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด บริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) จึงให้บริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด ให้แก่โจทก์ 4,999,994 หุ้น ในราคา 1 บาท และมีการโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นเจ้าหนี้ต่อบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด 281,289,649.06 บาท ให้แก่บริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) วันที่ 1 กันยายน 2549 บริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด กู้ยืมเงินโจทก์ 289,890,000 บาท เพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่บริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อรวมกับหนี้เดิม โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด 290,260,000 บาท หลังจากนั้นบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด มีมติให้เพิ่มทุนจากเดิม 50,000,000 บาท เป็น 302,500,000 บาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุน 290,000,000 บาท และโจทก์เป็นผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด โดยชำระค่าหุ้น 252,500,000 บาท ด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด และบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด สลักหลังตั๋วคืนให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ที่มีต่อโจทก์ จากนั้นบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชี โจทก์จึงอ้างผลขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด จำนวน 290,000,000 บาท มาถือเป็นรายจ่ายในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 แต่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าผลขาดทุนจากการลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด 252,500,000 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13) และโจทก์บันทึกรายจ่ายสูงเกินไป 45 บาท จึงปรับปรุงการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของโจทก์ และมีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 กับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล รอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 ถึงปี 2553 แก่โจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่บริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) ขายทรัพย์สินและเงินลงทุนให้แก่บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด โดยให้บริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ขายเงินลงทุนที่มีในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด ให้แก่โจทก์ 4,999,994 หุ้น ในราคา 1 บาท และโจทก์ต้องรับภาระที่บริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ค้างชำระ 37,499,955 บาท ส่วนลูกหนี้ค้างรับและดอกเบี้ยค้างรับ 281,289,649.06 บาท ได้โอนสิทธิเรียกร้องกลับไปให้บริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2549 บริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด กู้เงินโจทก์ 290,260,000 บาท เพื่อนำไปชำระหนี้แก่บริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) ทำให้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด แทนที่บริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) ครั้นวันที่ 6 ตุลาคม 2549 บริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด ออกหุ้นเพิ่มทุน 25,250,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท รวมมูลค่าหุ้น 252,500,000 บาท ขายให้แก่โจทก์ โดยชำระค่าหุ้นเดิมที่ค้างชำระ 37,499,955 บาทด้วย รวม 289,999,955 บาท จากนั้นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 บริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัท และวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ก็ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โจทก์จะนำรายจ่ายจำนวน 252,500,000 บาท เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิได้หรือไม่ และโจทก์สามารถอ้างผลขาดทุนจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทต่อมาได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อนำสืบของโจทก์นั้นขัดแย้งกับลักษณะการดำเนินธุรกิจของความมุ่งหมาย ที่จะหากำไรจากกิจการซื้อหุ้นเพิ่มทุนและกรณีโจทก์ บริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด ต่างเป็นบริษัทลูกของบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) ย่อมมีความสัมพันธ์กันในลักษณะผู้ถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่งหรือนิติบุคคลหนึ่งมีอำนาจจัดการอีกนิติบุคคลหนึ่ง บริษัทเหล่านี้ย่อมรู้ข้อมูลการประกอบธุรกิจซึ่งกันและกันดี พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าโจทก์ลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด ในลักษณะการลงทุนมุ่งได้เงินปันผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยมีนางสาวจินตนา นิติกรผู้ทำหน้าที่พิจารณาสำนวนอุทธรณ์ นางสาวธิติยา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีเบิกความทำนองเดียวกันว่า การที่โจทก์เข้าซื้อหุ้นของบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 ทำไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ประสงค์จะขายทรัพย์สินและเงินลงทุนในบริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด แก่บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด แต่ผู้ซื้อไม่ต้องการเงินลงทุน ลูกหนี้ และดอกเบี้ยค้างชำระในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด ที่บริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ถือหุ้นอยู่ โจทก์จึงต้องรับซื้อเงินลงทุนตามความประสงค์ของบริษัทแม่ โดยขณะนั้นบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด มีผลขาดทุนสะสมมาตลอดและได้หยุดดำเนินกิจการชั่วคราว หลังจากโจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จำนวน 252,500,000 หุ้น ไม่ปรากฏว่าบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด ได้นำเงินลงทุนไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการแปลงหนี้สินเป็นทุนแต่อย่างใด แต่กลับมีมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เลิกบริษัท ซึ่งต่อมาจดทะเบียนเลิกกิจการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 และจดทะเบียนเสร็จการเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ตามลำดับ การที่โจทก์ดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อให้บริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด เลิกกิจการและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเท่านั้น เห็นว่า คำเบิกความของพยานจำเลยมีเอกสารมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นให้เพิ่มทุน 252,500,000 บาท มีเหตุมีผลให้เชื่อว่า การที่โจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด เป็นการกระทำไปตามความต้องการของบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโจทก์เพื่อให้สามารถขายสินทรัพย์ในบริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ให้แก่บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประโยชน์จากเงินปันผลหรือจากการดำเนินการของบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด ที่โจทก์เข้าลงทุน ผลขาดทุน 252,500,000 บาท ดังกล่าว จึงไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อเป็นรายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปโดยไม่ใช่เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะแล้ว แม้รายจ่ายดังกล่าวก่อให้เกิดผลขาดทุนจากรายจ่ายดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่สามารถนำผลขาดทุนจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด มาถือเป็นผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ถูกประเมินได้ตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.135/2551 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการตัดมูลค่าหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่ได้รับคืนจากการเลิกกิจการของบริษัทลูกหนี้มาถือเป็นรายจ่ายของบริษัท ซึ่งไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากรเป็นเพียงหลักเกณฑ์เพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติเป็นแนวทางในการตรวจสอบและแนะนำผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล มิใช่เป็นกฎหมาย และกรณีดังกล่าวนั้นไม่สามารถใช้แก่ข้อเท็จจริงตามกรณีของโจทก์ในคดีนี้ได้ ทั้งหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่โจทก์อ้างก็มีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ข้อนี้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า มีเหตุลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า กรณีโจทก์ซื้อหุ้นของบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด เพื่อประโยชน์ของบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นบริษัทแม่ต้องการขายสินทรัพย์ในบริษัทแปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด อันเป็นบริษัทในเครือเดียวกันให้แก่บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายผลขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทแปซิฟิค โฮม ออฟฟิส จำกัด สูงถึง 252,500,000 บาท โดยเป็นการซื้อหุ้นจากบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ ทั้งด้านผู้ถือหุ้นและลักษณะอำนาจจัดการในบริษัทลูก มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ ผลเสียหายจากรายจ่ายดังกล่าวนี้แม้เป็นผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ ไม่เกินห้าปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกประเมินภาษีก็ยังคงเป็นรายจ่ายต้องห้ามดังได้วินิจฉัยมาแล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังไม่มีเหตุสมควรให้ลดหรืองดเบี้ยปรับ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย สำหรับเงินเพิ่มนั้นศาลภาษีอากรกลางยังไม่วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน โดยเห็นว่ายังไม่มีเหตุสมควรให้งดหรือลดเงินเพิ่มแก่โจทก์ด้วย
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 30,000 บาท