คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7847/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับผู้ตายมีสาเหตุขัดเคืองกันมาก่อนก่อนเกิดเหตุ ถือไม่ได้เสมอไปว่าจะเป็นเหตุให้จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและไม่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า หลังจากที่จำเลยและผู้ตายมีเรื่องขัดเคืองกันในครั้งก่อน แล้วจำเลยมีความอาฆาตคอยติดตามที่จะทำร้ายผู้ตายอีก ทั้งบ้านจำเลยและบ้านผู้ตายก็มิได้อยู่จังหวัดเดียวกัน ผู้ตายเพิ่งมาบ้านที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านพ่อตาแม่ยายและอยู่ใกล้กับบ้านจำเลยในวันเกิดเหตุนั้นเอง การที่จำเลยฆ่าผู้ตายมิได้เป็นการซุ่มยิง แต่เป็นการใช้อาวุธปืนยิงจากข้างล่าง 1 นัด แล้วเดินตามขึ้นไปยิงผู้ตายบนบ้านที่เกิดเหตุอีก 1 นัด และยังใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายผู้ตายต่อหน้าญาติจำเลยและญาติผู้ตายอีกหลายคน ผิดวิสัยที่จะเป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ความคิดของจำเลยที่จะฆ่าผู้ตายเกิดขึ้นอย่างกะทันหันเมื่อเห็นผู้ตายที่บ้านที่เกิดเหตุโดยจำเลยมิได้มีการตระเตรียมการหรือมีการวางแผนมาก่อน จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 เท่านั้น
ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นความผิดต่างกรรมกัน แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 จึงไม่ถูกต้อง แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗ , ๘ ทวิ , ๗๒ , ๗๒ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ , ๙๑ , ๒๘๘ , ๒๘๙ , ๓๗๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายจำนง เสียงดัง ผู้ตาย ๒ นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายที่บริเวณหน้าอก ปลายคาง และแขนข้างซ้าย และคนร้ายยังใช้อาวุธมีดแทงและเชือดคอผู้ตายลึกถึงครึ่งคอโดยมีเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ หรือไม่ เห็นว่า นางนัดเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ ๖ ถึง ๗ เดือน จำเลยมีเรื่องไม่พอใจผู้ตายถึงขนาดที่จำเลยชักมีดจะแทงผู้ตาย แต่มีผู้อื่นมาห้ามไว้ ส่วนนางจินดาเบิกความว่า ผู้ตายกับจำเลยมีเรื่องทะเลาะกันหลายปีมาแล้ว จึงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยและผู้ตายเคยมีเรื่องขัดเคืองกันเมื่อใด แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเกิดเหตุคดีนี้นานมาแล้ว การที่จำเลยกับผู้ตายมีสาเหตุขัดเคืองกันมาก่อนนั้น ถือไม่ได้เสมอไปว่าจะเป็นเหตุให้จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และไม่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า หลังจากที่จำเลยและผู้ตายมีเรื่องขัดเคืองกันในครั้งก่อนแล้ว จำเลยมีความอาฆาตคอยติดตามที่จะทำร้ายผู้ตายอีก ทั้งบ้านจำเลยและบ้านผู้ตายก็มิได้อยู่จังหวัดเดียวกัน ผู้ตายเพิ่งมาบ้านที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านพ่อตาแม่ยายและอยู่ใกล้กับบ้านจำเลยในวันเกิดเหตุนั้นเอง ที่จำเลยฆ่าผู้ตายครั้งนี้ก็มิได้เป็นการซุ่มยิง แต่เป็นการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงจากข้างล่าง ๑ นัด แล้วเดินตามขึ้นไปยิงผู้ตายบนบ้านที่เกิดเหตุอีก ๑ นัด และยังใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายผู้ตายต่อหน้าญาติจำเลยและญาติผู้ตายอีกหลายคนผิดวิสัยที่จะเป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เชื่อว่า ความคิดของจำเลยที่จะฆ่าผู้ตายเกิดขึ้นอย่างกะทันหันเมื่อเห็นผู้ตายที่บ้านที่เกิดเหตุโดยมิได้มีการตระเตรียมการหรือมีการวางแผนมาก่อนมากกว่า จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นความผิดต่างกรรมกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นั้น ไม่ถูกต้อง แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ อีกกระทงหนึ่ง สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ให้จำคุกตลอดชีวิต เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดกระทงอื่นแล้ว คงลงโทษได้เพียงจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙.

Share