แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นดังที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนการพิจารณาและถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาศาลแล้วยกคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยโดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ต่อไปการที่ศาลอุทธรณ์ไปวินิจฉัยว่าจำเลยจงใจขาดนัดพิจารณาโดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่ามีเหตุสมควรที่จะให้จำเลยเลื่อนการพิจารณาและศาลชั้นต้นควรจะไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยต่อไปหรือไม่เป็นการไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142ประกอบด้วยมาตรา246 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา41ถ้ามีการเลื่อนการพิจารณาโดยอ้างว่าผู้ใดไม่สามารถมาศาลได้เพราะเจ็บป่วยหากศาลไม่เชื่อว่าเป็นความจริงก็จะต้องมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปตรวจและรายงานให้ศาลทราบเสียก่อนจึงจะสั่งให้อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยแล้วมีคำสั่งว่าไม่น่าเชื่อว่าจำเลยป่วยไม่สามารถมาศาลได้เป็นการข้ามขั้นตอนจึงไม่ชอบด้วยมาตรา41
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายและค้ำประกัน จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-2267 ลำปาง หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคา 52,445 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 29,333 บาท และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาทนับแต่วันฟ้องแต่ไม่เกิน 1 ปี เว้นแต่โจทก์จะได้รับรถยนต์คันพิพาทคืนก่อนกำหนด คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างเหตุว่าศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานโดยไม่ได้แจ้งกำหนดให้จำเลยที่ 1ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยที่ 1 ทราบกระบวนพิจารณาเมื่อมีการปิดคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 แล้ว หากจำเลยที่ 1 มีโอกาสนำพยานหลักฐานเข้าสืบแล้วจำเลยที่ 1 จะชนะคดีเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ทราบวันนัดชี้สองสถานโดยชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องแล้วต่อมามีคำสั่งให้งดการไต่สวนและมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขาดนัดพิจารณาโดยจงใจ ไม่มีเหตุจะให้พิจารณาใหม่ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดพิจารณาเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ เพราะจำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนการพิจารณาและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาศาล เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้นปรากฎตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนการพิจารณาและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาศาลแล้วยกคำร้องขอพิจารณาใหม่ต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไปวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จงใจขาดนัดพิจารณา โดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุสมควรที่จะให้จำเลยที่ 1เลื่อนการพิจารณาและศาลชั้นต้นควรจะไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 ต่อไปหรือไม่ เป็นการไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เช่นนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 246 ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
สำหรับประเด็นที่ว่า มีเหตุสมควรที่จะให้จำเลยที่ 1 เลื่อนการพิจารณาหรือไม่นั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยแต่ศาลฎีกาเห็นว่าควรวินิจฉัยไปเสียเอง โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ในประเด็นนี้ปรากฎว่าจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ด้วยตนเอง ในวันนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 18 มกราคม 2537 ทนายจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ในวันนัดดังกล่าวยื่นคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนอ้างว่า เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความจำเลยที่ 1 จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงแห่งคดีก่อน โจทก์ไม่ค้านศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปไต่สวนคำร้องในวันที่3 มีนาคม 2537 เวลา 13.30 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัด จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนอ้างว่า ติดราชการ เข้าประชุมกำหนดแนวทางและบรรทัดฐานการออกข้อสอบของโรงเรียนแม่ทะประชาสามัคคีโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปไต่สวนคำร้องในวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 เวลา 13.30 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนอีก อ้างว่า จำเลยที่ 1ป่วยเป็นโรคบิดอุจจาระร่วง โดยมีใบแสดงความคิดเห็นของแพทย์มาแสดงด้วย ทนายโจทก์แถลงคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาประวิงคดีมิได้ป่วยจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1ป่วยจริงไม่สามารถมาศาลได้ จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาสืบสนับสนุนคำร้อง จึงให้ยกคำร้องศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนการไต่สวนเป็นครั้งที่สามแต่เป็นการขอเลื่อนโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ป่วยมีใบแสดงความคิดเห็นของแพทย์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ทะจังหวัดลำปางอันเป็นโรงพยาบาลของรัฐระบุว่าจำเลยที่ 1 ป่วยเป็นโรคบิดอุจจาระร่วง กรณีเป็นเช่นนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 41 บัญญัติไว้เป็นใจความว่า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ศาลจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจก็ได้ ถ้าผู้ไปตรวจได้รายงาน และศาลเชื่อว่าอาการของผู้ที่อ้างว่าป่วยนั้นไม่ร้ายแรงถึงกับจะมาศาลไม่ได้ ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการขาดนัดหรือการไม่มาศาลของบุคคลที่อ้างว่าป่วยนั้น แล้วแต่กรณีบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ย่อมหมายความว่า ถ้ามีการขอเลื่อนการพิจารณาโดยอ้างว่า ไม่สามารถมาศาลได้เพราะป่วยเจ็บ หากศาลไม่เชื่อว่าเป็นความจริงก็จะต้องมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปตรวจและรายงานให้ศาลทราบเสียก่อน จึงจะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ป่วยจนไม่สามารถมาศาลได้ เป็นการข้ามขั้นตอน จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติในมาตรา 41และเมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็สมควรที่จะให้จำเลยที่ 1 เลื่อนการไต่สวนคำร้องออกไปก่อน
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาเพราะศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งวันนัดชี้สองสถานให้จำเลยที่ 1 ทราบนั้นเห็นว่า ในชั้นนี้ยังไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนการไต่สวน ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 แล้วพิจารณาสั่งตามรูปคดี