คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7839/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ซื้อรถคันพิพาทไปจากจำเลยทั้งสองในราคา300,000 บาท โดยไม่ทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมาและมีใบคู่มือการจดทะเบียนปลอมมาก่อน ต่อมาเจ้าพนักงานได้ตรวจพบว่าใบคู่มือการจดทะเบียนของรถคันพิพาทเป็นเอกสารปลอมจึงมีการยึดรถคันพิพาทไปจากโจทก์เพื่อคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขายจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ถูกรอนสิทธิโดยชดใช้ ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทจากโจทก์ด้วยนั้น การที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทนั้น มิใช่เป็นค่าหรือราคารถคันพิพาทที่จำเลยจะต้องส่งคืน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักกับราคาของรถคันพิพาทได้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยในปัญหาที่ว่าความเสียหายอันเกิดแต่การรอนสิทธินั้นโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดขึ้น โจทก์จึงต้องรับผิดในจำนวนค่าเสียหายกึ่งหนึ่งด้วยนั้น ในปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้น แม้จำเลยทั้งสองจะได้อุทธรณ์ในข้อนี้มาด้วย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2529จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันขายรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าคันหมายเลขทะเบียน 9จ-6478 กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์ ในราคา 300,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อโอนทะเบียนรถให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในฐานะสามีของจำเลยที่ 2ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2530 เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถจากโจทก์เพื่อคืนให้เจ้าของที่แท้จริง เนื่องจากรถถูกโจรกรรมมาแล้วเปลี่ยนทะเบียนก่อนที่จะขายให้โจทก์ โจทก์ไม่อาจใช้รถได้ตามความประสงค์โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากการรอนสิทธิ โดยจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชดใช้ราคารถที่ได้รับไปจากโจทก์แล้วจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2530เป็นต้นไป ซึ่งขอคิดถึงวันฟ้องเพียง 10 เดือน เป็นเงิน18,750 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้วก็เพิกเฉยจึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน318,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2ขายรถคันพิพาทให้โจทก์และไม่ได้รับเงินค่าราคารถจากโจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากมิได้กล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่าการที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อยินยอมให้โอนรถเป็นเหตุให้ต้องร่วมรับผิดอย่างไร ปรากฏภายหลังว่ารถถูกลักมา ดังนั้นการซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ความยินยอมของจำเลยที่ 1 จึงใช้ไม่ได้ การซื้อขายรถมิใช่หนี้ร่วมที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ขายรถคันพิพาทให้โจทก์ในราคา 300,000 บาท ตั้งแต่วันที่3 มิถุนายน 2529 และโจทก์ได้รับรถไปแล้วในวันดังกล่าวโจทก์ใช้ประโยชน์ในรถจนถึงวันที่ถูกยึดคืนเป็นเวลา323 วัน โดยอาจนำออกให้เช่าได้วันละ 1,500 บาทคิดเป็นเงินจำนวน 484,500 บาท คุ้มกับจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องแล้ว จำเลยที่ 2 ซื้อรถมาจากนายธงชัย ศรีจั่นแก้วโดยไม่ทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมา ทั้งได้ตรวจสอบใบคู่มือการจดทะเบียนรถแล้วต่อมาจำเลยที่ 2 ทราบว่าเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากนางสาววิไล เนื่องจำนงค์ได้นำเอกสารหลักฐานปลอมไปแสดงต่อเจ้าพนักงานกองทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีขอจดทะเบียนรถและเพราะความประมาทเลินเล่อของพันตำรวจโทชัยวัฒน์ชำนาญพูด ร้อยตำรวจเอกโอภาส ยศปิยะเสถียรและนายดาบตำรวจสุพจน์ วงศ์ธนู ได้ออกใบคู่มือการจดทะเบียนรถให้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นการร่วมกันทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการซึ่งกรมตำรวจต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายธงชัย ศรีจั่นแก้วนางสาววิไล เนื่องจำนงค์ พันตำรวจโทชัยวัฒน์ ชำนาญพูดร้อยตำรวจเอกโอภาส ยศปิยะเสถียร นายดาบตำรวจสุพจน์ วงศ์ธนูและกรมตำรวจเข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 2 ไม่เคยเป็นเจ้าของรถคันพิพาท และไม่เคยนำไปขายให้จำเลยที่ 1ใบคู่มือการจดทะเบียนเป็นของปลอมเหตุที่มีชื่อของจำเลยร่วมที่ 2 เนื่องจากมีบุคคลอื่นร่วมทำขึ้นหรือจำเลยร่วมที่ 1ร่วมกับบุคคลอื่นทำขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในมูลคดีผิดสัญญาซื้อขาย แต่จำเลยที่ 2ให้การว่าจำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 กระทำโดยประมาทอันเป็นมูลคดีเรื่องละเมิดซึ่งต่างกัน จำเลยที่ 2จึงชอบที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ จำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้รับจดทะเบียนรถคันพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใดกล่าวคือ สภาพของรถอยู่ในสภาพใหม่ ไม่มีร่องรอยเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือขูดลบดัดแปลงหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังตลอดจนเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะเป็นเอกสารปลอมต่อมาจำเลยร่วมที่ 2ได้จดทะเบียนโอนรถให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 แล้ว จำเลยร่วมที่ 1ได้แจ้งย้ายรถไปใช้ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยร่วมที่ 3 ตรวจสอบพบว่าเอกสารหลักฐานของจำเลยร่วมที่ 2 เป็นเอกสารปลอมและรถถูกลักมา จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยร่วมที่ 2ทั้งแจ้งให้นายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานครทราบเพื่อให้ระงับการทำนิติกรรมและให้ยึดรถให้ยึดรถไว้ตรวจสอบโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานการซื้อขายรถและตามใบคู่มือการจดทะเบียนก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อโจทก์หรือจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หากจำเลยที่ 2 นำใบคู่มือการจดทะเบียนไปตรวจสอบจริงก็ ย่อมจะต้องทราบว่ารถถูกลักมาหากจำเลยที่ 2ซื้อรถจากจำเลยร่วมที่ 1 แล้วก็ชอบที่จะนำรถไปจดทะเบียนโอนภายใน 15 วัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็จะต้องทราบว่ารถถูกลักมาการที่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายจึงเกิดความประมาทเลินเล่อ หากโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยตรวจดูใบคู่มือการจดทะเบียนเสียก่อนว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ก็จะทราบว่ารถถูกลักมา กรณีจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ราคาซื้อขายรถระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นเงิน 250,000 บาทดังนั้นราคารถในขณะที่ถูกยึดย่อมมีราคาน้อยลงเนื่องจากใช้มานายย่อมเสื่อมสภาพลงจึงมีราคาไม่เกิน 50,000 บาทและโจทก์ใช้รถเพื่อประโยชน์มาตลอด จึงไม่มีค่าเสียหายจากการรอนสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 6 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ ใช้ความละเมิดรอบคอบระมัดระวังมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ทั้งปริมาณงานที่แผนกทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีมีมากในแต่ละวันเมื่อตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารก็ได้แจ้งให้นายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานครทราบแล้ว การซื้อขายรถนี้หากจำเลยทั้งสองหรือโจทก์ไปดำเนินการทางทะเบียนโอน จดทะเบียนโอนที่แผนกทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานคร ก็ย่อมจะทราบว่ารถคันพิพาทเป็นรถที่จำเลยที่ 2 ได้มาโดยไม่ชอบโจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในรถแล้วเป็นเวลา 323 วันรถมีอายุใช้งานประมาณ 1 ปีเศษแล้ว ย่อมเสื่อมสภาพหากโจทก์ขายรถก็จะได้เงินไม่เกินจำนวน 80,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 6
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ได้ซื้อรถคันพิพาทไปจากจำเลยทั้งสองในราคา 300,000 บาทโดยไม่ทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมาและมีใบคู่มือการจดทะเบียนปลอมมาก่อน ต่อมาเจ้าพนักงานได้ตรวจพบว่าใบคู่มือการจดทะเบียนของรถคันพิพาทเป็นเอกสารปลอมตามเอกสารหมาย จ.1 จึงมีการยึดรถคันพิพาทไปจากโจทก์เพื่อคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันใช้ราคารถคันพิพาทให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่เพียงใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 บัญญัติว่า”หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น” และมาตรา 479 บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการรอนสิทธิก็ดี ฯลฯ ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้ซื้อรถคันพิพาทถูกรอนสิทธิเพราะเจ้าของรถคันพิพาทมีสิทธิเหนือรถคันพิพาทในขณะที่มีการซื้อขาย ดังนั้นจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขายต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ถูกรอนสิทธิโดยชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทจากโจทก์ด้วยนั้นเห็นว่า การที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทนั้นมิใช่เป็นค่าหรือราคารถคันพิพาทที่จำเลยจะต้องส่งคืนดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักกับราคาของรถคันพิพาทได้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยในปัญหาที่ว่าความเสียหายอันเกิดแต่การรอนสิทธินั้น โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดขึ้นโจทก์จึงต้องรับผิดในจำนวนค่าเสียหายกึ่งหนึ่งด้วยนั้น เห็นว่าในปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้น แม้จำเลยทั้งสองจะได้อุทธรณ์ในข้อนี้มาด้วยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่าจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 6 กระทำโดยประมาทเลินเล่อจึงต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยร่วมที่ 3เป็นนายทะเบียนยานพาหนะประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี จำเลยร่วมที่ 4 เป็นผู้ช่วยนายทะเบียนและจำเลยร่วมที่ 5 ได้รับมอบหมายให้รวบรวมรายได้ค่าภาษีและค่าธรรมเนียมของงานทะเบียนยานพาหนะจำเลยร่วมที่ 6 เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2529จำเลยร่วมที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีได้แจ้งต่อนายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานครว่าใบคู่มือการจดทะเบียนรถคันพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1เป็นเอกสารปลอม ให้ระงับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใด ๆ และให้อายัดรถคันพิพาทไว้ ดังปรากฏตามเอกสารหมายล.2 และ ล.3 ต่อมาปรากฏว่าวันที่ 3 มิถุนายน 2529จำเลยทั้งสองได้ตกลงขายรถคันพิพาทให้โจทก์ จากการนำสืบพยานหลักฐานของ จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 6 ได้ความว่าการจดทะเบียนและการออกใบคู่มือการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 นั้นจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ดำเนินการไปตามอำนาจและหน้าที่ดังที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้และได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการทุกประการโดยเฉพาะได้กระทำไปโดยสุจริต หลังจากที่ทราบว่าใบคู่มือการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมแล้วก็รีบแจ้งต่อนายทะเบียนยานพาหนะที่เกี่ยวข้องทราบและอายัดรถคันพิพาททันที เกิดเหตุแล้วได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการที่สอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นต้องกันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีที่เกี่ยวข้องทุกคนได้ดำเนินการไปโดยชอบและสุจริตแล้ว และมิได้กระทำไปโดยความประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.31 ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองนั้นคงนำสืบลอย ๆ ว่า จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเท่านั้น ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างใดเห็นว่า พยานจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 6มีน้ำหนักดีกว่า ฟังได้ว่า จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ กรณีเช่นนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองและโจทก์ที่ควรจะต้องไปตรวจสอบพยานหลักฐานทางทะเบียนของรถคันพิพาทก่อนที่จะมีการซื้อขายกันตามวิสัยของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปพึงจะกระทำกันประการสำคัญโจทก์ได้ซื้อ รถคันพิพาท หลังจากที่ได้มีการแจ้งอายัดจากจำเลยร่วมที่ 3 แล้ว ซึ่งหากโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ไปจดทะเบียนโอนกันตามกฎหมายแล้วก็จะทราบทันทีว่าใบคู่มือการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองมากกว่า ดังนั้น จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5ตลอดจนจำเลยร่วมที่ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 สังกัดอยู่จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองด้วยแต่ประการใด
พิพากษายืน

Share