คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7819/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524 มาตรา 4 ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหมายถึง ผู้ทำการส่งสินค้าออกซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์ส่งออกนอกราชอาณาจักรตามที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ส่งสินค้าประเภทอะไหล่รถยนต์ซึ่งผลิตในราชอาณาจักรไทย ออกไปจำหน่ายยังประเทศสิงคโปร์โดยผ่านพิธีการศุลกากรของจำเลย ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับการส่งออกดังกล่าวต่อจำเลยตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524แต่จำเลยไม่ยอมชำระให้ ขอให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรจำนวน 89,439,805.07 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 64,023,388.73 บาท นับแต่วันฟ้องและให้เพิกถอนหนังสืออายัดเงินชดเชยค่าภาษีอากรของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0828/15340 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2541

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรเพราะโจทก์เป็นเพียงผู้ส่งออกสินค้าที่พิพาท โดยได้รับค่าตอบแทนมิใช่เจ้าของสินค้าที่ส่งออก นอกจากนี้กรมสรรพากรได้มีคำสั่งอายัดเงินชดเชยค่าภาษีอากรซึ่งโจทก์ยื่นคำขอรับไว้จำเลยจึงไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ รวมทั้งดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524มาตรา 4 บัญญัติว่า “สินค้า” หมายความว่า สินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรและ “เงินชดเชย” หมายความว่า เงินที่จะจ่ายชดเชยค่าภาษีอากรซึ่งมีอยู่ในต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออกให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยในรูปของบัตรภาษี เห็นว่า ตามบทกฎหมายดังกล่าวผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหมายถึงผู้ทำการส่งสินค้าออกซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร โจทก์อ้างว่า นายลิม อี เป็ง ชาวสิงคโปร์เป็นผู้ติดต่อซื้อสินค้าพิพาทแล้วว่าจ้างให้โจทก์ทำการส่งออก โจทก์คงกล่าวอ้างและนำสืบลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นได้ว่านายลิม อี เป็ง ติดต่อซื้อสินค้าพิพาทจากโรงงานหรือผู้ผลิตแห่งใดในราชอาณาจักรและมิได้นำบุคคลผู้ซึ่งนายลิม อี เป็ง ติดต่อซื้อสินค้าดังกล่าวมายืนยันให้เห็นว่า มีการซื้อขายสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรจริง ทั้งโจทก์มิได้มีใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวมาแสดงต่อศาล นอกจากนี้นายลิม อี เป็ง พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้ารายพิพาทเบิกความมีพิรุธ โดยเบิกความตอบคำถามทนายโจทก์ว่า ในการซื้อสินค้าดังกล่าวพยานได้ชำระเงินมัดจำบางส่วนให้แก่ผู้ขายสินค้า ต่อมาเมื่อได้รับสินค้าครบถ้วนแล้วพยานจะได้โอนเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือมาให้ผู้ขาย แต่กลับเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า พยานโอนเงินค่าสินค้าทั้งหมดให้โจทก์เมื่อได้รับสินค้าแล้ว พยานเบิกความอ้างว่าการโอนเงินมีหลักฐานอยู่ที่พยาน แต่โจทก์ก็มิได้อ้างส่งหลักฐานการโอนเงินต่อศาล ส่วนนายพรชัย พันธ์ศิริลักษณ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า นายลิม อี เป็ง เป็นผู้ซื้อสินค้าและได้โอนเงินค่าสินค้าให้แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานการซื้อสินค้าในคดีนี้ และไม่มีหลักฐานการรับหรือจ่ายเงินค่าสินค้าเลยทั้ง 167 เที่ยว จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์ส่งออกนอกราชอาณาจักรตามที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร ดังนั้น โจทก์จะมายื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าดังกล่าวนั้นต่อจำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากจำเลยคดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ว่า โจทก์มีหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระต่อกรมสรรพากรและคำสั่งแจ้งอายัดทรัพย์สินของโจทก์ชอบหรือไม่ เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษายืน

Share