คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7813/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยจะยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่นั้น จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานจะพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 9 วรรคสอง เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องค่าคอมมิชชั่นขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้ การที่จำเลยเพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่านายหน้า 54,892.72 บาทและเงินสะสม 9,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับค่านายหน้า 402,809.64 บาท และเงินสะสม 11,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานขายเครื่องมืออีเล็กทรอนิกส์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2540 ถึงเดือนธันวาคม 2542 โจทก์ที่ 1 ขายสินค้าจำนวนหนึ่งให้แก่ลูกค้าของจำเลย และระหว่างเดือนธันวาคม 2540 ถึงเดือนตุลาคม 2542 โจทก์ที่ 2 ขายสินค้าจำนวนหนึ่งให้แก่ลูกค้าของจำเลย จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์ทั้งสองไว้เป็นเงินสะสมในส่วนของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 9,900 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน11,250 บาท ต่อมาโจทก์ทั้งสองลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่ยังไม่ได้รับเงินสะสมและค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) จากการขายสินค้าในประเด็นเรื่องโจทก์ทั้งสองได้รับเงินสะสมคืนแล้วหรือไม่นั้น เมื่อจำเลยรับว่ายังค้างชำระเงินสะสมแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องจึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับเงินสะสมคืน ส่วนในเรื่องจำเลยยกเลิกค่าคอมมิชชั่นแล้วหรือไม่นั้น จำเลยทำข้อตกลงกับโจทก์ที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องการเก็บเงินค่าสินค้าและการจ่ายค่าคอมมิชชั่นไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 แล้ว จำเลยจึงยกเอาเรื่องที่ให้งดการจ่ายค่าคอมมิชชั่นชั่วคราวมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่จ่ายค่าคอมมิชชั่นแก่โจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่นจากจำเลยเป็นเงิน54,892.72 บาท และโจทก์ที่ 2 มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่นจากจำเลยเมื่อหักจากที่ได้รับเงินไปแล้วบางส่วนเหลือเป็นเงิน 382,809.64 บาท พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 64,792.72 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน394,059.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 มิถุนายน 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.1 ว่า ในเรื่องเกี่ยวกับค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) ในคดีนี้ ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เพราะค่าคอมมิชชั่นเป็นเงินพิเศษที่นอกเหนือจากเงินค่าจ้าง ค่าชดเชย และเงินค่าทดแทนต่าง ๆ ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจการวินิจฉัยของศาลแรงงาน ทั้งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.3 ก็มิได้ระบุเรื่องค่าคอมมิชชั่นไว้นั้น เห็นว่าจำเลยอุทธรณ์อ้างว่าศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในเรื่องค่าคอมมิชชั่น จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ มาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด” เห็นได้ว่าการที่จำเลยจะยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่นั้น จำเลยจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานจะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้น ตามบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าให้เป็นที่สุด คดีนี้จำเลยมิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องค่าคอมมิชชั่นขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีในปัญหาดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 5 ว่า ในเรื่องดอกเบี้ยที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นไม่ชอบ เพราะดอกเบี้ยของเงินสะสมและค่าคอมมิชชั่น ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสองเรียกได้ ทั้งไม่ถือว่าเป็นหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยนั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินสะสมและค่าคอมมิชชั่นแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน64,792.72 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 394,059.64 บาท เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้นเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานและเป็นหนี้เงิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี…” โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่เวลาที่จำเลยผิดนัด การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองจากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ) จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share