แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในการนี้ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ต้องนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่กรณีนี้รวมถึงหมวด 3 ว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ซึ่งในมาตรา 150 แห่ง ป.วิ.พ. บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินทั้งเก้าแปลงตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้คืนที่ดินทั้งเก้าแปลงดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้คัดค้านต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 ข้างต้น เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ยกเว้นให้เฉพาะพนักงานอัยการที่ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนผู้คัดค้านไม่ได้รับการยกเว้นด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า “การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง” ใน ป.วิ.อ. เพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แพ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านตามลำดับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องทั้งสองสำนวนขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านซึ่งได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 29937 ถึง 29939 และที่ดินโฉนดเลขที่ 38664 ถึง 38668 พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัย 2 หลัง ตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกัน เลขที่ 668/1 หมู่ที่ 2 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และที่ดินโฉนดเลขที่ 2134 อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศโฆษณาตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านทั้งสองสำนวนขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการธุรกรรมที่ให้ยึด และหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งหมด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 29937 ถึง 29939 และที่ดินโฉนดเลขที่ 38664 ถึง 38668 พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัย 2 หลัง ตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกัน เลขที่ 668/1 หมู่ที่ 2 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และที่ดินโฉนดเลขที่ 2134 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านในชั้นนี้ฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 2134 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 89.1 ตารางวา มีชื่อนางวิไลรัตน์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2541 นางวิไลรัตน์จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวมีกำหนด 1 ปี ไว้กับนางพรผกา เมื่อครบกำหนดขายฝากนางวิไลรัตน์ไม่ไถ่ถอน วันที่ 9 มิถุนายน 2543 นางพรผกาจดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนายเศรษฐนันท์ หลังจากนั้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 นายเศรษฐนันท์ จดทะเบียนแบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวออกไปอีก 3 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 29937, 29938 และ 29939 ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก จนกระทั่งวันที่ 20 สิงหาคม 2545 นายเศรษฐนันท์จดทะเบียนขายที่ดินทั้งสี่แปลง ดังกล่าวข้างต้นให้แก่ผู้คัดค้าน ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2548 ผู้คัดค้านจดทะเบียนรวมที่ดินโฉนดเลขที่ 2134, 29937, 29938 และ 29939 รวม 4 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2134 และในวันเดียวกัน ผู้คัดค้านจดทะเบียนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 2134 ฉบับใหม่ออกไปอีก 8 แปลง คือ โฉนดเลขที่ 29937, 29938, 29939, 38664, 38665, 38666, 38667 และ 38668 อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนที่ดินทั้งเก้าแปลงโดยสุจริตมีค่าตอบแทนและเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว โดยผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านชั้นสอบสวนของสำนักงาน ปปง. และในศาลชั้นต้นทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านซื้อที่ดินมาโดยสุจริต เงินค่าซื้อที่ดินจำนวน 800,000 บาท เป็นการหักกลบลบหนี้ค่าจ้างทำฎีกา ส่วนหนึ่งผู้คัดค้านขายวัวของตนเองไป 95 ตัว เป็นเงิน 1,900,000 บาท โดยมีนายแหวน นายวินัย และนายสุชาติ ได้เคยให้การไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อีกส่วนหนึ่งได้มาจากการกู้ยืม โดยมีนายชัยฤทธิ์ นายสมชาย และนางอภิญา ได้เคยให้ถ้อยคำไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. เช่นกัน เห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งเก้าแปลงซึ่งรับโอนมาจากนายเศรษฐนันท์ กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 (2) คือ ผู้คัดค้านต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนและเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว แต่ในทางไต่สวนในส่วนของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านคงอ้างเพียงเอกสารเป็นพยาน โดยมิได้นำพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าวล้วนแล้วแต่มีข้อพิรุธ กล่าวคือ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่า เงินค่าซื้อที่ดินจำนวน 800,000 บาท เป็นการหักกลบลบหนี้ค่าจ้างทำฎีกา นั้น ตามคำร้องคัดค้านที่ผู้คัดค้านยื่นต่อสำนักงาน ปปง. (สำนวนแรก) ผู้คัดค้านระบุว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2545 ผู้คัดค้านบังเอิญรู้จักกับนายเศรษฐนันท์ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ หลังจากนั้นประมาณสองเดือนนายเศรษฐนันท์มาว่าจ้างให้ผู้คัดค้านเป็นที่ปรึกษาให้แก่นายเศรษฐนันท์และหลานสาวกับให้ติดตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1338/2545 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีการตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 800,000 บาท แต่เมื่อถึงกำหนดนัดนายเศรษฐนันท์ไม่อาจรวบรวมเงินมาชำระได้ นายเศรษฐนันท์จึงเสนอขายที่ดินตามคำร้องให้แก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยยอมให้ผู้คัดค้านหักเงินค่าจ้างเหมาจ่ายจำนวน 800,000 บาท จึงเหลือราคาที่ดินที่จะต้องจ่ายอีกจำนวน 2,200,000 บาท ผู้คัดค้านรวบรวมเงินจากการขายวัวจำนวน 95 ตัว เป็นเงิน 1,900,000 บาท กู้ยืมจากเพื่อนและน้องสาว กับเงินสดส่วนตัว ซึ่งได้ชำระให้แก่นายเศรษฐนันท์หลังจากได้จดทะเบียนขายที่ดินแล้ว นั้น ปรากฏว่าสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1338/2545 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ผู้คัดค้านอ้างว่านายเศรษฐนันท์ให้ผู้คัดค้านติดตามนั้น คดีดังกล่าวศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้มีคำพิพากษาแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2545 ก่อนที่ผู้คัดค้านจะซื้อที่ดินจากนายเศรษฐนันท์ในวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เป็นเวลากว่า 5 เดือน น่าเชื่อว่านางอ่วง จำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องว่าจ้างทนายความให้ดำเนินการใดอีก ข้อเท็จจริงเพิ่งปรากฏว่าผู้คัดค้านได้จัดทำฎีกาให้แก่นางอ่วง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 หลังจากที่ผู้คัดค้านรับโอนที่ดินถึง 2 ปี เศษ โดยที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างลอย ๆ ว่านางอ่วงเป็นน้าสาวของนายเศรษฐนันท์ แต่ผู้คัดค้านมิได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่าเหตุใดนายเศรษฐนันท์ต้องว่าจ้างผู้คัดค้านให้จัดทำฎีกาให้แก่นางอ่วงในราคาค่าจ้างว่าความสูงถึงเพียงนั้น และยังเป็นการยอมให้หักกลบลบหนี้กันหรือถือเป็นการจ่ายค่าจ้างว่าความล่วงหน้านานถึง 2 ปี เศษ อันมีข้อพิรุธ ไม่สมด้วยเหตุผล ที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้คัดค้านขายวัวของตนเองไป 95 ตัว เป็นเงิน 1,900,000 บาท โดยมีนายแหวน นายวินัย และนายสุชาติ ได้เคยให้การไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. อีกส่วนหนึ่งได้มาจากการกู้ยืม โดยมีนายชัยฤทธิ์ นายสมชาย และนางอภิญา ได้เคยให้ถ้อยคำไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปป.ง เช่นกัน นั้น ผู้คัดค้านก็มิได้นำพยานบุคคลดังกล่าวที่เคยให้ถ้อยคำไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. มาเป็นพยานเบิกความในชั้นศาลเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้ข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าวมีน้ำหนักน้อย นอกจากนี้ปรากฏหลักฐานทางราชการว่า มีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินทั้งเก้าแปลง ในราคาเพียง 1,500,000 บาท แต่ผู้คัดค้านอ้างว่า ซื้อที่ดินจากนายเศรษฐนันท์ในราคา 3,000,000 บาท โดยบางส่วนหักกลบลบหนี้กับค่าจ้างจัดทำฎีกา และบางส่วนชำระเป็นเงินสด ซึ่งแตกต่างกัน ผู้คัดค้านก็มิได้จัดทำบันทึกให้นายเศรษฐนันท์ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าได้รับเงินค่าที่ดินเป็นเงิน 3,000,000 บาท ตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ทั้งที่ผู้คัดค้านมีอาชีพเป็นทนายความ ซึ่งควรที่จะได้กระทำการรักษาประโยชน์ของตนโดยรอบคอบ เนื่องจากมูลค่าที่ดินที่ซื้อขายมีราคาสูงและการชำระค่าที่ดินมีการชำระกันหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านเองก็ไม่มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่าได้รับโอนที่ดินโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามคำเบิกความของนางพรผกาว่า นายเศรษฐนันท์เคยให้เงิน 6,000,000 บาท แก่นางพรผกาเพื่อไปรับซื้อฝากที่ดินทั้งเก้าแปลง มีกำหนดหนึ่งปีจากนางวิไลรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม โดยนางพรผกาเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนนายเศรษฐนันท์ หลังจากนางวิไลรัตน์ไม่ไถ่ถอนภายในกำหนดหนึ่งปี นางพรผกาจึงจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งเก้าแปลง คืนให้แก่นายเศรษฐนันท์ และยังได้ความจากคำเบิกความของนางโสภาว่า นายเศรษฐนันท์ว่าจ้างให้นางโสภาและสามีช่วยดูแลบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินทั้งเก้าแปลงดังกล่าว โดยนายเศรษฐนันท์จะโอนเงินค่าจ้างให้แก่นางโสภาและสามีทางบัญชีเงินฝากของนางโสภา ปรากฏว่าในระหว่างปี 2545 ถึง 2547 นายเศรษฐนันท์ได้โอนเงินไปให้นางโสภาเป็นค่าว่าจ้างดูแลบ้านตามสำเนาสมุดคู่ฝาก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหลังจากนายเศรษฐนันท์จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งเก้าแปลงให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 แล้ว ผู้คัดค้านมิได้เข้าครอบครองเพื่อทำประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด แต่นายเศรษฐนันท์ให้ผู้คัดค้านถือกรรมสิทธิ์แทน เพื่อมิให้ถูกติดตามยึดทรัพย์ได้ โดยนายเศรษฐนันท์ยังคงครอบครองที่ดินทั้งเก้าแปลง พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินทั้งเก้าแปลงมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทรัพย์สินดังกล่าวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเศรษฐนันท์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ตามที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบ เพราะผู้คัดค้านต่อสู้ว่าเป็นทรัพย์ของผู้คัดค้าน จึงเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ผู้คัดค้านจึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในการนี้ให้พนักงานอัยการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่กรณีนี้รวมถึงหมวด 3 ว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ซึ่งในมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้ผู้อุทธรณ์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินทั้งเก้าแปลงตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นและให้คืนที่ดินทั้งเก้าแปลงดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้คัดค้านต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 ข้างต้น เพราะพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ยกเว้นให้เฉพาะพนักงานอัยการที่ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนผู้คัดค้านไม่ได้รับการยกเว้นด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างส่งเอกสารเพิ่มเติม คือ สำเนาคำสั่งพนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้คัดค้านในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1) (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งเป็นมูลเหตุเดียวกันกับคดีนี้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า “การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง” ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ