แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแขวงสุพรรณบุรี ศาลแขวงสุพรรณบุรีได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 การที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนทรัพย์สินที่ขายอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องแล้วยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อให้บังคับจำเลยและบริวารของจำเลยที่ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการยื่นฟ้องกล่าวหาจำเลยและบริวารของจำเลยต่อศาลขึ้นใหม่ตามวิธีการที่ ป.วิ.พ. มาตรา 334 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาตามมาตรา 247 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ (เดิม) ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 3 มาใช้บังคับได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องที่ขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาและให้ส่งถ้อยคำสำนวนนี้ไปยังศาลฎีกาจึงไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 ศาลแขวงสุพรรณบุรี พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี ต่อมาสำนักงานบังคับคดีจังหวัดตรังซึ่งดำเนินการบังคับคดีแทนได้ยึดและขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 35805, 63682 และ 79935 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของจำเลยที่ 3 รายจำนองผู้ร้องขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จำนองซื้อที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ จากการขายทอดตลาดและจดทะเบียนรับโอนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559
วันที่ 7 กันยายน 2560 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดตรัง) ขอให้ศาลออกหมายบังคับจำเลยและหรือบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีเป็นการบังคับคดีนอกเขตศาล ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีคือ ศาลแขวงสุพรรณบุรี หาใช่ศาลชั้นต้นไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 วรรคสาม (เดิม) ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ (เดิม)
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแขวงสุพรรณบุรี ศาลแขวงสุพรรณบุรีได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 การที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนทรัพย์สินที่ขายอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องแล้วยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อให้บังคับจำเลยและบริวารของจำเลยที่ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการยื่นฟ้องกล่าวหาจำเลยและบริวารของจำเลยต่อศาลขึ้นใหม่ตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 334 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาตามมาตรา 247 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ (เดิม) ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 3 มาใช้บังคับได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องที่ขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาและให้ส่งถ้อยคำสำนวนนี้ไปยังศาลฎีกาจึงไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษายกคำสั่งคำร้องอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของศาลชั้นต้นและที่ให้ส่งถ้อยคำสำนวนนี้ไปยังศาลฎีกา และยกคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวเสียด้วย ให้ส่งอุทธรณ์พร้อมถ้อยคำสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อส่งไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตามลำดับชั้นศาล ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ