คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มารดาโจทก์เป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งได้รับการรักษาตามปกติไม่ปรากฏว่ามีอาการรุนแรงและเฉียบพลัน และไม่ได้ป่วยหนักจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องรีบเดินทางไปทันที การที่โจทก์ขาดงานไปเยี่ยมมารดาโดยไม่ลากิจให้ถูกต้อง จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่นายจ้างมีระเบียบห้ามมิให้ลูกจ้างลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำนั้น มิได้หมายความว่าถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนแล้วจะต้องมีความผิด เพราะถ้าลูกจ้างยื่นใบลาโดยไม่มีเหตุสมควรหรือลาหยุดบ่อย นายจ้างก็สามารถจะไม่อนุญาตให้ลาหยุดได้ถ้าลูกจ้างลาหยุดโดยนายจ้างอนุญาตแล้ว แม้เป็นการลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำ จะถือว่าเป็นความผิดของลูกจ้างไม่ได้ และการลากิจ ลาป่วยบ่อย ๆ ของลูกจ้าง ไม่ใช่การกระทำผิดไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1จำนวน 14,940 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 16,200 บาท และให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมหรือมิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 20,750 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน22,500 บาท จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าชดเชยหรือเงินจำนวนใด ๆ จากจำเลยหรือให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแต่อย่างใด ขอให้พิพากษายกฟ้องศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ตั้งแต่ปี 2529 จนถึงวันเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ลาป่วยมากกว่าที่ระเบียบกำหนดไว้ แสดงว่าสุขภาพของโจทก์ที่ 1 ไม่ดี ทำงานให้จำเลยได้ไม่เต็มที่ ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่มาทำงานโดยไม่ยื่นใบลากิจและไม่มีเหตุ จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เกินสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตั้งแต่วันที่ 6 ถึง 11 ตุลาคม 2532 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุดังกล่าว จึงหาเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ จำเลยไม่ต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหาย แต่การกระทำของโจทก์ที่ 1 ไม่มีความผิดอันใด แม้จำเลยเคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารหมายเลข ล.3 และ ล.4 ก็ไม่ใช่หนังสือเตือนโจทก์ที่ 1 ว่าได้กระทำผิดระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 14,940 บาทส่วนโจทก์ที่ 2 ขาดงานเกินสามวันทำงานติดต่อโดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 14,940 บาท ให้โจทก์ที่ 1 คำขออย่างอื่นของโจทก์ให้ยก โจทก์ที่ 2 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “กรณีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ลางานไม่ถูกต้องตามระเบียบของจำเลยการที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่าจำเป็นต้องไปเยี่ยมมารดานั้น มารดาโจทก์ที่ 2 เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งก็ได้รับการรักษาตามปกติไม่ได้ปรากฏว่ามีอาการรุนแรงและเฉียบพลันแต่อย่างใด อาการป่วยของมารดาโจทก์ที่ 2 เช่นนี้ เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่โจทก์ที่ 2จะต้องรีบเดินทางไปเยี่ยม เมื่อโจทก์ที่ 2 ลางานโดยไม่ถูกต้องแล้วไม่มาทำงาน จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เกินสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานี้ศาลฎีกาเห็นว่า การขาดงานของโจทก์ไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนที่โจทก์ที่ 2 จะไม่ไปทำงาน โดยไม่ลากิจให้ถูกต้องตามระเบียบของจำเลย เพราะมารดาโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ป่วยหนักจะเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2ต้องรีบเดินทางไปทันที กรณีนี้โจทก์ที่ 2 ควรจะลากิจให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงจะหยุดงานไปได้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการไม่มาทำงานของโจทก์ที่ 2 เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ว่า การลาป่วยของโจทก์ที่ 1 เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย ข้อ 9 เอกสารหมาย ล.2 คำเตือนตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 เป็นการเตือนว่าโจทก์ที่ 1 กระทำผิดระเบียบข้อบังคับโดยการลาป่วยมาก โจทก์ที่ 1 กระทำผิดซ้ำคำเตือนจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามระเบียบที่อ้างถึง จำเลยได้กำหนดไว้ในระเบียบเอกสารหมาย ล.2หมวดที่ 7 วินัย โทษทางวินัยและความผิดสถานหนัก ข้อ 9 ว่า”ไม่มาทำงานสายหรือลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำ”ระเบียบนี้แม้มีข้อห้ามมิให้ลูกจ้างลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำ ก็เป็นเพียงข้อห้ามเท่านั้น มิได้หมายความว่าถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนแล้วจะต้องมีความผิด เพราะว่าถ้าลูกจ้างผู้ใดได้ยื่นใบลาโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดบ่อยเกินไป จำเลยผู้เป็นนายจ้างชอบที่จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ลูกจ้างผู้นั้นลาหยุดได้ถ้าลูกจ้างลาหยุดโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยแล้ว แม้เป็นการลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำ จะถือว่าเป็นความผิดของลูกจ้างหาได้ไม่ เพราะนายจ้างเป็นผู้อนุญาตเอง เว้นแต่ในกรณีที่นายจ้างเห็นว่าลูกจ้างลาหยุดบ่อย ๆ ไม่มีสมรรถภาพในการทำงานนายจ้างก็อาจเลิกจ้างได้ แต่หาใช่เป็นการเลิกจ้างที่ลูกจ้างกระทำความผิดไม่ เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ที่จำเลยอ้างว่าเป็นคำเตือนนั้นก็ปรากฏข้อความตักเตือนโจทก์ที่ 1 ว่าลาป่วยมาก ถ้าป่วยจริงก็แสดงว่ามีสุขภาพไม่แข็งแรงเท่านั้น ส่วนข้อความว่าถ้าไม่ป่วยจริงก็เป็นการทุจริต จะถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น ก็เป็นเพียงข้อความที่จำเลยเน้นให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่าถ้าไม่ป่วยจริงก็จะถูกลงโทษเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 1 ลาป่วยเท็จแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำตักเตือนโจทก์ที่ 1 เพราะกระทำผิดระเบียบของจำเลย อีกทั้งการลากิจ ลาป่วย บ่อย ๆ ของโจทก์ที่ 1ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำผิดแต่อย่างใด จึงไม่ต้องด้วยประกาศแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)ที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share