คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 780/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทางสำหรับรถยนต์วิ่งเข้าออกถือว่าเป็นอาคารตามความในมาตรา4(4)แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522เมื่อใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารของจำเลยทั้งสามกำหนดให้อาคารต้องมีทางสำหรับรถยนต์วิ่งเข้าและออกทางเดียวกว้างไม่น้อยกว่า3.50เมตรตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่7(พ.ศ.2517)ข้อ8ที่ว่า”ทางเข้าออกของรถยนต์ต้องกว้างไม่น้อยกว่า6เมตรในกรณีที่จัดให้รถยนต์วิ่งได้ทางเดียวทางเข้าและทางออกต้องกว้างไม่น้อยกว่า3.50เมตร”แต่ตามกฎกระทรวงฉบับที่12(พ.ศ.2528)ข้อ(2)(ก)ได้บัญญัติยกเว้นให้ความกว้างของทางสำหรับรถยนต์วิ่งเข้าและออกโดยนับจากตัวอาคารที่ก่อสร้างถึงแนวเขตที่ดินผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตได้ไม่เกินร้อยละห้าของความกว้าง3.50เมตรซึ่งมีค่าเท่ากับ0.174เมตรเมื่อทางที่จำเลยทั้งสามทำไว้สำหรับรถยนต์วิ่งมีความกว้างส่วนที่น้อยที่สุดเท่ากับ3.20เมตรเท่ากับผิดไปจากแบบแปลน0.30เมตรเกินกว่าร้อยละห้าของความกว้าง3.50เมตรการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขัดต่อกฎกระทรวงดังกล่าวจำเลยทั้งสามย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารมาตรา31(1)จำเลยที่1และที่2ต้องรับโทษตามมาตรา65วรรคหนึ่งส่วนจำเลยที่3ผู้ดำเนินการให้มีการก่อสร้างอาคารต้องได้รับโทษเป็นสองเท่าของโทษตามมาตรา65วรรคหนึ่งทั้งนี้ตามมาตรา69 จำเลยทั้งสามก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแต่แรกการกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นความผิดตั้งแต่นั้นมาแล้วแม้ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะอนุญาตให้จำเลยทั้งสามแก้ไขแบบแปลนได้ก็ตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวมิใช่กฎหมายจำเลยทั้งสามจึงไม่พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยทั้งสามทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารวันที่31ตุลาคม2534แต่จำเลยทั้งสามมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวถือว่าจำเลยทั้งสามฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่1พฤศจิกายน2534เป็นต้นไป ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535ออกใช้บังคับให้ยกเลิกความในมาตรา65และ67แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522และให้ใช้ความใหม่แทนซึ่งมีระวางโทษแตกต่างจากเดิมอันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดอันมีทั้งเป็นคุณและโทษแก่ผู้กระทำความผิดซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา3ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดเมื่อระวางโทษตามมาตรา65และ67เดิมเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามยิ่งกว่ามาตรา65และ67ที่แก้ไขใหม่จึงต้องนำมาตรา65และ67เดิมมาใช้บังคับ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาพิพากษาโดยให้เรียกนางศรีวรรณี วสุวานิช จำเลยในสำนวนที่สองเป็นจำเลยที่ 3
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนมีใจความทำนองเดียวกันขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 31, 40, 65, 67, 69, 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 368
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 60 วรรคหนึ่ง,65 (ที่ถูกมาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง), 67 และ 69 ลงโทษในกระทงความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนปรับจำเลยที่ 1และที่ 2 คนละ 3,000 บาท ปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 6,000 บาทและปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละอีกวันละ 500 บาท ปรับจำเลยที่ 3อีกวันละ 1,000 บาท เป็นเวลา 752 วัน ในกระทงความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งไม่ระงับการก่อสร้างอาคารปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละวันละ500 บาท เป็นเวลา 264 วัน และปรับจำเลยที่ 3 วันละ 1,000 บาทเป็นเวลา 270 วัน ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และมาตรา 30
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่าจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ก่อสร้างอาคารสูง11 ชั้น จำนวน 1 หลัง ตามใบอนุญาตเอกสารหมาย จ.1 โดยมีจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารและเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างจำเลยทั้งสามก่อสร้างอาคารดังกล่าวโดยจัดให้มีทางรถยนต์วิ่งเข้าและออกทางเดียว ซึ่งความกว้างบางช่วง 3.20 เมตร
จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามก่อสร้างอาคารโดยจัดให้มีทางรถยนต์วิ่งเข้าและออกทางเดียว บางช่วงซึ่งกว้างเพียง3.20 เมตร ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร หากมีความผิดขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่าทางสำหรับรถยนต์วิ่งเข้าออกดังกล่าว ถือว่าเป็นอาคารตามความในมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2528)ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5(3) และ มาตรา 31(2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “การก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตให้กระทำได้ดังในกรณีต่อไปนี้ ฯลฯ (2) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลง ต่อเติมเพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ หรือรูปทางของโครงสร้างอาคาร เว้นแต่ (ก) สัดส่วนโครงสร้างของอาคารจะผิดไปจากแบบแปลนหรือรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเกินร้อยละห้า หรือ ฯลฯ”เมื่อใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารของจำเลยทั้งสามได้กำหนดให้อาคารดังกล่าวต้องให้มีทางสำหรับรถยนต์วิ่งเข้าและออกทางเดียว กว้างไม่น้อยกว่า 3.50 เมตร ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2507) ออกตามความในมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ข้อ 8 ที่บัญญัติว่า “ทางเข้าออกของรถยนต์ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ในกรณีที่จัดให้รถยนต์วิ่งได้ทางเดียว ทางเข้าและทางออกต้องกว้างไม่น้อยกว่า 3.50 เมตร”แต่ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2528) ข้อ (2)(ก) ดังกล่าวได้บัญญัติยกเว้นให้ความกว้างของทางสำหรับรถยนต์วิ่งเข้าและออก โดยนับจากตัวอาคารที่ก่อสร้างถึงแนวเขตที่ดินผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตได้ไม่เกินร้อยละห้า กล่าวคือ ไม่เกินร้อยละห้าของความกว้าง 3.50 เมตร ซึ่งมีค่าเท่ากับ 0.175 เมตร ในกรณีนี้ทางสำหรับรถยนต์วิ่งดังกล่าวจึงอาจจะผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต คือ 3.50 เมตร ได้ไม่เกิน 0.175 เมตร เมื่อทางที่จำเลยทั้งสามทำไว้สำหรับรถยนต์วิ่ง มีความกว้างส่วนที่น้อยที่สุดเท่ากับ3.20 เมตร ซึ่งเท่ากับผิดไปจากแบบแปลน 0.30 เมตร ซึ่งเกินกว่าร้อยละห้าของความกว้าง 3.50 เมตร การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขัดต่อกฎกระทรวงตามที่กล่าวมาแล้ว จำเลยทั้งสามย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31(1)จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้ดำเนินการให้มีการก่อสร้างอาคารต้องได้รับโทษเป็นสองเท่าของโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ตามมาตรา 69 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหานี้ โดยปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินคนละ 3,000 บาทและปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 6,000 บาท นั้นถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการกำหนดลงโทษปรับแก่จำเลยทั้งสามเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสามฎีกาว่า เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบอาคารที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนแล้วได้สั่งให้จำเลยทั้งสามแก้ไข จำเลยทั้งสามก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไข ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็อนุญาตให้แก้ไขได้ การก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดต่อไปนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตมาแต่แรก การกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นความผิดตั้งแต่นั้นมาแล้วแม้ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะอนุญาตให้จำเลยทั้งสามแก้ไขแบบแปลนได้ก็ตาม คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวมิใช่กฎหมาย จำเลยทั้งสามจึงไม่พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสามฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามเกิดขึ้นในวันที่จำเลยทั้งสามลงมือก่อสร้างอาคารในส่วนที่ผิดแบบแปลนมิใช่เกิดตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2533 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 3ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารนั้น โจทก์มีนายสมนึก เจ็ดสีโพธิ์ถาวร เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตห้วยขวางตำแหน่งงานโยธา 3 เบิกความว่าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2534เวลา 10 นาฬิกา พยานไปตรวจการก่อสร้างอาคารเกิดเหตุพบว่าด้านทิศตะวันตกของตัวอาคารที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งจะใช้เป็นทางเข้าและทางออกของรถยนต์ มีความกว้าง 2.20 เมตร ซึ่งผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและผิดต่อกฎกระทรวงพยานจึงทำบันทึกรายงานให้ผู้อำนวยการเขตห้วยขวางทราบ แสดงว่าจำเลยทั้งสามลงมือก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2534ซึ่งเป็นวันที่นายสมนึกตรวจพบ ส่วนวันเวลาที่แน่ชัดนั้นไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ เมื่อภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดของจำเลยทั้งสามตกอยู่แก่โจทก์ แม้โจทก์พิสูจน์ถึงวันเวลากระทำความผิดของจำเลยทั้งสามแน่นอนไม่ได้ก็ตามเมื่อนายสมนึกไปพบเห็นการกระทำของจำเลยทั้งสามในวันที่ 22 สิงหาคม 2534ต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันลงมือกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามดังนั้น โทษปรับรายวันที่จะลงแก่จำเลยทั้งสามในข้อหานี้ จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา336 วัน สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และ 343 วัน สำหรับจำเลยที่ 3มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2534 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฎีกาข้อนี้จำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
ประเด็นวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่เมื่อใด โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่าจำเลยทั้งสามฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ไม่ระงับการก่อสร้างอาคารเพียง 152 วัน มิใช่สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2ฝ่าฝืน 264 วันจำเลยที่ 3 ฝ่าฝืน 270 วัน ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์มีนายสมนึก เจ็ดสีโพธิ์ถาวร เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2534 พยานไปตรวจอาคารเกิดเหตุ พบจำเลยทั้งสามก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จึงทำบันทึกรายงานให้ผู้อำนวยการเขตห้วยขวางทราบ ต่อมาผู้อำนวยการเขตห้วยขวางในฐานะปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งถึงจำเลยทั้งสามให้ระงับการก่อสร้างอาคารตามหนังสือคำสั่ง ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2534 เอกสารหมาย จ.4 จ.6 และ จ.8จำเลยทั้งสามได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2534ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบพยานให้เห็นข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นจึงต้องฟังว่า จำเลยทั้งสามทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารในวันที่ 31 ตุลาคม 2534 แต่จำเลยทั้งสามมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ถือว่าจำเลยทั้งสามฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่22 กรกฎาคม 2535 ซึ่งเป็นวันฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 และวันที่29 กรกฎาคม 2535 ซึ่งเป็นวันฟ้องจำเลยที่ 3 รวม 264 วัน และ 271 วันตามลำดับ แต่สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ขอมาเพียง 270 วัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เท่าที่โจทก์ขอชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ออกใช้บังคับให้ยกเลิกความในมาตรา 65 และ 67 แต่พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมีระวางโทษแตกต่างจากเดิมอันเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดอันมีทั้งเป็นคุณและโทษแก่ผู้กระทำความผิดซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เมื่อระวางโทษตามมาตรา 65 และ 67 เดิมเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามยิ่งกว่ามาตรา 65และ 67 ที่แก้ไขใหม่ จึงต้องนำมาตรา 65 และ 67 เดิมมาใช้บังคับ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในกระทงความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละอีกวันละ 500บาท เป็นเวลา 336 วันและปรับจำเลยที่ 3 อีกวันละ 1,000 บาทเป็นเวลา 343 วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share