คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3653/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2523 ย่อมมีผลต่อจำเลยที่ 3 ตั้งแต่ วันยึด แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดิน ทราบวันที่ 17 เมษายน 2523 ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้โอน ขายที่ดินซึ่งถูกยึด ให้แก่ พ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2523 การยึด ที่ดินดังกล่าวจึงใช้ ยัน พ.ไม่ได้ เมื่อพ. จดทะเบียนขายฝากที่ดิน ให้แก่ผู้ร้อง ในวันเดียวกับที่รับโอน และไม่ไถ่ตามกำหนดผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินที่ถูกยึดได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 56382ของจำเลยที่ 3 เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินดังกล่าว อ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยรับซื้อฝากจากผู้อื่นและผู้ขายฝากมิได้ไถ่คืนภายในกำหนด

โจทก์ให้การว่า ที่ดินซึ่งนำยึดเป็นของจำเลยที่ 3 และโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ก่อนที่ผู้ร้องรับซื้อฝาก การซื้อฝากจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนการยึด

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การยึดอสังหาริมทรัพย์นั้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีผลตั้งแต่วันยึด แต่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 มีความประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคลภายนอกด้วย คือการยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้จะใช้ยันบุคคลภายนอกได้ ต้องมีการแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน คดีนี้เจ้าพนักงานที่ดินได้รับแจ้งการยึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2523 ภายหลังที่จำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินพิพาทให้นายพรศักดิ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2523 การยึดที่ดินพิพาทจึงใช้ยันนายพรศักดิ์ไม่ได้ นายพรศักดิ์จึงมีสิทธิที่จะโอนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายพรศักดิ์มิได้ไถ่คืนจนพ้นกำหนดแล้ว นายพรศักดิ์จึงหมดสิทธิไถ่คืนที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยที่ดินพิพาทได้ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305 นำมาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ ส่วนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดให้เจ้าพนักงานที่ดินล่าช้า เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจจะต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 471/2520, 507/2522 และ 602/2524 ที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน และโจทก์ก็มิได้อ้างว่านายพรศักดิ์ เตรียมวรกุล รับโอนโดยไม่สุจริต ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share