แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อพิจารณาคำฟ้องแล้ว หากศาลเห็นว่าแม้เป็นจริงดังคำฟ้องโจทก์ก็ไม่มีทางชนะคดี ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องไปได้เลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ล้มละลายฟ้องธนาคารจำเลยให้รับผิด อ้างว่าผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ทำไว้กับบริษัทกับไม่ออกเอกสารให้บริษัทไปออกสินค้าจากท่าเรือ ดังนี้ เป็นเรื่องบริษัทจะฟ้องร้องโจทก์จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 มาฟ้องร้องเสียเองไม่ได้
โจทก์ฟ้องขอให้กรมบังคับคดีจำเลยรับผิด โดยมิได้บรรยายถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักว่าจะต้องรับผิดในฐานะใดข้ออ้างนี้เป็นคนละเรื่องกับความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กับจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ มาตรา 147 ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาร้ายหรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเมื่อคำฟ้องไม่ได้แสดงว่าได้มีการกระทำดังกล่าว จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัดลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ก่อนถูกฟ้องล้มละลายบริษัทป๊อปฯ มีสิทธิกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากจำเลยที่ ๑ ในวงเงินแปดล้านบาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาให้บริษัทป๊อปฯกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกหกล้านบาท จำเลยที่ ๑ ตกลงออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระหนี้สินค้าที่บริษัทป๊อปฯ สั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยจำเลยที่ ๑ ตกลงว่าเมื่อสินค้าเข้ามาแล้วจะค้ำประกันหนี้ค่าสินค้ารายนี้ให้บริษัทป๊อปฯ ไปออกสินค้าจากท่าเรือไปจำหน่ายได้โดยจำเลยที่ ๑ จะต้องทำทรัสต์รีซีทชำระหนี้ภายหลังแต่จำเลยที่ ๑ กลับผิดสัญญา โดยไม่ยอมจ่ายเงินกู้ ทำให้บริษัทป๊อปฯต้องหยุดกิจการ ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียหาย จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทกรมมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลาย การที่จำเลยที่ ๒ ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทป๊อปฯ ผู้ล้มละลายไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ฐานผิดสัญญา เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหาย จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องแล้วหากศาลเห็นว่าแม้เป็นจริงดังคำฟ้องโจทก์ก็ไม่มีทางชนะคดี ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องไปได้เลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๑ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๙๖/๒๕๐๘
ในปัญหาว่าตามคำฟ้อง คดีพอวินิจฉัยชี้ขาดยกฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ รับผิด โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๑ผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ที่จำเลยที่ ๑ ทำกับบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัด กับไม่ออกเอกสารให้บริษัทดังกล่าวไปออกสินค้าจากท่าเรือตามที่ตกลงกันไว้นั้น เป็นเรื่องที่บริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัด จะฟ้องร้องโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทหามีอำนาจฟ้องร้องไม่ กรณีตามคำฟ้องคดีนี้เป็นคนละเรื่องกับกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๖๙ จะนำบทมาตรานี้มาปรับแก่คดีนี้หาได้ไม่ สำหรับจำเลยที่ ๒ นั้น จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลและมิได้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ทั้งเจ็ดมิได้บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานของบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัด เป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๒ ตามคำฟ้องนั้นผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ดคือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัด ผู้ล้มละลาย แต่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องรับผิด โดยมิได้บรรยายถึงข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดในฐานะใด ข้ออ้างนี้เป็นคนละเรื่องกับความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ระหว่างเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กับจำเลยที่ ๒ ศาลมิอาจทราบได้ว่าที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยที่ ๒ รับผิดนั้น โจทก์อาศัยข้ออ้างให้จำเลยที่ ๒ รับผิดในฐานะใด นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา ๑๔๗ นั้น ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาร้ายหรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดมิได้แสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัด ผู้ล้มละลายได้กระทำการโดยเจตนาร้ายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ด้วยเหตุผลดังกล่าวแม้จะเป็นความจริงตามคำฟ้อง ก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ ๒ รับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งเจ็ดได้
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น