แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ศาลแรงงานภาค 7 จะวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 ให้จำเลยที่ 2 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 90 แต่เอกสารนั้นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีที่ทำให้แพ้ชนะคดีระหว่างคู่ความ และข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาคดีทนายความจำเลยที่ 1 แถลงขอเลื่อนคดีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว ศาลแรงงานภาค 7 อนุญาตให้เลื่อนคดีไป ถึงวันนัดทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลแรงงานภาค 7 จึงมีอำนาจรับฟังเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 ได้ หากเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 247,807 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 236,007 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 247,807 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน236,007 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานเก็บเงิน มีหน้าที่ออกใบเสร็จรับเงินและเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วนำเงินค่าสินค้าส่งโจทก์ สัญญาจ้างมีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย ยินยอมรับผิดชำระค่าเสียหายต่อโจทก์ คือ รายการเก็บเงินออกใบเสร็จไม่นำส่งแก่โจทก์ มีใบเสร็จรับเงินซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงิน บันทึกการตรวจสอบและคำยืนยันการชำระเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าของโจทก์เพื่อยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ใช้ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าของโจทก์แล้วไม่นำเงินส่งโจทก์ สำหรับรายการเก็บเงินไม่ออกใบเสร็จรับเงิน มีบันทึกการตรวจสอบบางรายการ แม้ลูกค้าของโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในคำยืนยัน แต่ก็มีผู้ตรวจสอบของโจทก์ลายมือลงชื่อในคำยืนยันว่าจำเลยที่ 1 รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าของโจทก์โดยไม่ออกใบเสร็จรับเงิน และไม่นำเงินส่งโจทก์ สำหรับรายการเก็บเงินปิดบัญชีไม่นำส่งมีบันทึกการตรวจสอบและคำยืนยันการชำระเงินค่าเช่าซื้อในคราวเดียวจากลูกค้าของโจทก์ แม้บันทึกการตรวจสอบบางรายการลูกค้าของโจทก์จะไม่ลงลายมือชื่อในคำยืนยัน แต่ก็มีผู้ตรวจสอบของโจทก์ลงลายมือชื่อในคำยืนยันว่าจำเลยที่ 1 รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าของโจทก์ที่ชำระค่าเช่าซื้อในคราวเดียวและปิดบัญชีแล้วไม่นำเงินส่งโจทก์ ส่วนรายการแก้ไขใบเสร็จรับเงิน มีใบเสร็จรับเงินซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงิน บันทึกการตรวจสอบและบันทึกรายการชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าของโจทก์จำนวน 800 บาท แล้วนำส่งต่อโจทก์เพียง 400 บาท สำหรับรายการยึดสินค้าคืนไม่นำส่งมีบันทึกการตรวจสอบและคำยืนยันคืนสินค้าที่เช่าซื้อจากลูกค้าของโจทก์หลายรายการ แม้บันทึกการตรวจสอบบางรายการลูกค้าของโจทก์จะไม่ลงลายมือชื่อในคำยืนยันแต่ก็มีผู้ตรวจสอบของโจทก์ลงลายมือชื่อในคำยืนยันว่าจำเลยที่ 1 รับสินค้าที่เช่าซื้อจากลูกค้าของโจทก์แล้วไม่นำส่งคืนโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างว่าพยานเอกสารที่โจทก์อ้างมานั้นไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์จำนวน 236,007 บาท โดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหายตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ขณะทำงานตามสัญญาจ้างให้โจทก์ อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่าคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ หน้าที่นำสืบตกแก่โจทก์ เมื่อเอกสาร ที่โจทก์นำสืบไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ การที่ศาลแรงงานภาค 7 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างว่าพยานเอกสารที่โจทก์อ้างไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นการวินิจฉัยขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นการยกเหตุผลขึ้นอ้างเพื่อไม่ให้ศาลแรงงานภาค 7 รับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ อันเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 7 ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่าเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 รับฟังไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารต่อจำเลยที่ 1 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 เห็นว่า เมื่อเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 ประกอบด้วยบันทึกรายการเก็บเงินออกใบเสร็จไม่นำส่ง รายการเก็บเงินไม่ออกใบเสร็จรับเงิน รายการเก็บเงินปิดบัญชีไม่นำส่ง รายการแก้ไขใบเสร็จรับเงิน รายการยึดสินค้าไม่นำส่ง ล้วนเป็นเอกสารที่ใช้นำสืบพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด อันเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีที่ทำให้แพ้ชนะคดีระหว่างคู่ความ แม้ศาลแรงงานภาค 7 จะวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่าในวันนัดพิจารณาวันที่ 30 มกราคม 2550 ทนายความจำเลยที่ 1 แถลงขอเลื่อนคดีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 และศาลแรงงานภาค 7 มีคำสั่งอนุญาต โดยให้เลื่อนไปนัดพิจารณาในวันที่ 23 มีนาคม 2550 ต่อมาเมื่อถึงวันดังกล่าวทนายความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ศาลแรงงานภาค 7 ย่อมมีอำนาจที่จะรับฟังเอกสารนั้นได้ หากเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน