คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7785/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนำคดีไปสู่ศาลแรงงานกรณีผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน ฯ มาตรา 53 วรรคหนึ่ง ผู้อุทธรณ์สามารถกระทำได้เฉพาะในปัญหาที่ผู้อุทธรณ์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเท่านั้น ผู้อุทธรณ์จะนำปัญหาอื่นที่ตนมิได้อุทธรณ์ไปสู่ศาลแรงงานย่อมมิได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่วินิจฉัยคำร้องที่โจทก์ขอรับเงินทดแทนกรณี ศ. เสียชีวิตว่าโจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ศ. และโจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอุปการะของ ศ. ก่อน ศ. ถึงแก่ความตาย โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยเพียงปัญหาเดียวว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินทดแทนเนื่องจากโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของ ศ. ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเพียงขอให้ศาลแรงงานวินิจฉัยเฉพาะปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของ ศ. ก่อน ศ. ถึงแก่ความตายหรือไม่อันเป็นปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยเท่านั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยมาด้วยว่าโจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ศ. จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนก็เป็นการไม่ชอบ โจทก์จะรื้อฟื้นปัญหาเรื่องโจทก์เป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่มาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 201/2544 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 และให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การนำคดีไปสู่ศาลแรงงานกรณีผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง นั้น ผู้อุทธรณ์สามารถกระทำได้เฉพาะในปัญหาที่ผู้อุทธรณ์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเท่านั้น ผู้อุทธรณ์จะนำปัญหาอื่นที่ตนมิได้อุทธรณ์ไปสู่ศาลแรงงานย่อมมิได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยเพียงปัญหาเดียวว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตของนางสาวศุภิสรา เนื่องจากโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวศุภิสรา ซึ่งจำเลยก็วินิจฉัยเฉพาะในปัญหานี้ว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวศุภิสราก่อนนางสาวศุภิสราถึงแก่ความตาย จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ในชั้นพิจารณาของจำเลยจึงไม่มีปัญหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวศุภิสรามีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 (1) หรือไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของจำเลยและนำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามมาตรา 53 โจทก์ย่อมมีสิทธิเพียงขอให้ศาลแรงงานวินิจฉัยเฉพาะปัญหาที่ว่า โจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวศุภิสราก่อนนางสาวศุภิสราถึงแก่ความตายหรือไม่ อันเป็นปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยเท่านั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยมาด้วยว่าโจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวศุภิสรา จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนก็เป็นการไม่ชอบ โจทก์จะรื้อฟื้นเรื่องโจทก์เป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่มาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์.

Share