แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถแท็กซี่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับ ได้รับความเสียหายและโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ แม้คดีของโจทก์ที่ 2 จะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียว จึงทำให้คำวินิจฉัยในส่วนที่ว่าโจทก์ที่ 2 ประมาทเลินเล่อด้วยตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาขัดกัน ต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างเดียว จำเลยทั้งสองจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 530,271 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 279,353 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 54,918 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยความประมาทเลินเล่อชนกับรถแท็กซี่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับ รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 และรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ แม้คดีนี้โจทก์ที่ 2 จะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียว จึงทำให้คำวินิจฉัยในส่วนที่ว่าโจทก์ที่ 2 ประมาทเลินเล่อด้วยของศาลอุทธรณ์นั้นขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.