แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การโอนรถทางทะเบียนนั้น เป็นเพียงหลักฐานเพื่อแสดงว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิใช้รถซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมการใช้รถ ตามนัย พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6,17 เท่านั้นมิใช่เป็นหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโอนรถไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528ภายหลังการยึดหนึ่งวัน และนำสืบเพียงว่า วันที่ 17 มกราคม2528 เป็นเพียงการโอนทางทะเบียน มิใช่โอนกรรมสิทธิ์ในตัวรถเช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถคันที่โจทก์ฟ้องไปก่อนการยึดแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะเพิ่งโอนทะเบียนรถไปหลังจากการยึด 1 วัน ก็เป็นเพียงโอนทางทะเบียน มิใช่โอนกรรมสิทธิ์ในตัวรถ ดังนั้นจำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถใช้หนี้ให้นางสุวลี แล้วก่อนมีการยึดรถ ส่วนที่มีการโอนทางทะเบียนภายหลังการยึดรถหนึ่งวัน มีสาเหตุมาจากหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยมอบให้นางสุวลี ไปทำการโอนไม่ถูกต้องจนต้องทำหนังสือมอบอำนาจใหม่ เป็นเหตุให้ล่าช้า และเมื่อถูกยึดรถแล้วนางสุวลี ไปติดตามเรื่องขอโอนทะเบียนรถ เจ้าหน้าที่จึงทำให้แล้วเสร็จในวันที่ 17มกราคม 2528 หลังยึดรถหนึ่งวัน และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การโอนทางทะเบียนนั้นเป็นเพียงหลักฐานเพื่อแสดงว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิใช้รถซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมการใช้รถ ตามนัยพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 17 เท่านั้น มิใช่เป็นหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถคันที่โจทก์ฟ้องไปก่อนการยึดรถแล้ว การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยโอนรถเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528 ภายหลังการยึดหนึ่งวันและนำสืบเพียงว่าวันที่ 17 มกราคม 2528 เป็นเพียงการโอนทางทะเบียนมิใช่โอนกรรมสิทธิ์ในตัวรถการกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
พิพากษายืน.