คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4304/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตอกเสาเข็มในโครงการบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพิพาทของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องระบุเพียงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้าง ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 คือผู้ว่าจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 คือผู้รับจ้าง และแม้ความจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพียงรับจ้างก่อสร้างอาคาร มิได้รับจ้างตอกเสาเข็มด้วย อันทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ว่าจะจ้างใครเข้าไปตอกเสาเข็มในที่ดินพิพาท ก็ยังคงสถานะความเป็นผู้ว่าจ้างอยู่เช่นเดิม จำเลยที่ 1 จึงไม่พ้นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างทำของ ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 428 ฉะนั้น การพ้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 เนื่องเพราะมิได้เป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ในการตอกเสาเข็มจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นเรื่องของการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
โจทก์นำสืบเพียงว่าจำเลยที่ 1 เริ่มก่อสร้างบ้านโดยใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2554 แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในวันใด จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2558

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่เดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่เดือนมิถุนายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ โดยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคารตึกแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2554 จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างบ้านพักอาศัยบนที่ดินของตน โดยว่าจ้างให้บริษัทไฮเทค ไทยคอนกรีต จำกัด เป็นผู้ตอกเสาเข็ม อันเป็นเหตุทำให้อาคารตึกแถวพิพาทของโจทก์ได้รับความเสียหาย ปรากฏรอยร้าว หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับนายสุรพงษ์ หัวหน้าฝ่ายโยธา สำนักงานเขตผู้รับผิดชอบเคยไปพูดคุยเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์ แต่ไม่อาจตกลงกันได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตอกเสาเข็มในโครงการบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพิพาทของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องระบุเพียงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้าง ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 คือผู้ว่าจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 คือผู้รับจ้าง และแม้ความจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพียงรับจ้างก่อสร้างอาคาร มิได้รับจ้างตอกเสาเข็มด้วย อันทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ว่าจะจ้างใครเข้าไปตอกเสาเข็มในที่พิพาท ก็ยังคงสถานะความเป็นผู้ว่าจ้างอยู่เช่นเดิม จำเลยที่ 1 จึงไม่พ้นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างทำของ ภายใต้บังคับของมาตรา 428 แห่งประมวลกฎหมายหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้น การพ้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 เนื่องเพราะมิได้เป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ในการตอกเสาเข็มจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นเรื่องของการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ที่จำนวน 450,000 บาท นั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์นำสืบกล่าวอ้างเพียงว่าได้เคยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างมาสำรวจความเสียหายและประเมินราคาเพื่อซ่อมแซมรวมค่าวัสดุแล้ว ต้องใช้เงินทั้งสิ้นจำนวน 682,884.70 บาท ตามใบเสนอราคาซ่อมแซม โดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียงแค่จำนวน 650,000 บาท แต่โจทก์ไม่ได้นำตัวช่างที่ประเมินราคาดังกล่าวมาเป็นพยานเบิกความรับรองยืนยัน กรณีจึงไม่อาจรับฟังเป็นจริงได้ทั้งหมด ประกอบคำเบิกความของนายอนุชิตวิศวกรโยธาซึ่งเคยเข้าไปตรวจสภาพตึกแถวของโจทก์ก่อนมีการตอกเสาเข็ม ยืนยันว่ามีรอยร้าวที่บริเวณผนังและหลังคาในส่วนที่โจทก์ต่อเติมด้านหลังอยู่ทุกชั้นก่อนแล้ว ดังนี้ เพื่อความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี จึงเห็นควรให้ลดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายลงเหลือเพียงกึ่งหนึ่งจากจำนวนที่โจทก์ขอ ส่วนดอกเบี้ยที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นับแต่เดือนมิถุนายน 2554 นั้น โจทก์นำสืบเพียงว่าจำเลยที่ 1 เริ่มก่อสร้างบ้านโดยใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2554 แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในวันใด จึงให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2554
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 325,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share