คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

1. เมื่อเกิดมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลขึ้นแล้วย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
2. ตามความในประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 มาตรา 78,79 การขอายของตามบัญชีอัตราภาษีค้าประเภทที่ 2 นั้น หมายถึงการขายสินค้าซึ่งโอนกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ซึ่งไม่อาจโอนให้แก่กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น การซื้อขายฝินซึ่งไม่ใช่เป็นการซื้อขายฝิ่นตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ.2472 หมวด 3 นั้น จึงไม่ใช่สินค้าที่ขายกันได้ตามความในประมวลรัษฎากร ผู้ขายจึงไม่ต้องรับผิดในการเสียภาษีการค้า.
(ข้อ 2 ประใหญ่ ครั้งที่ 42 – 43/2504).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จดทะเบียนการค้าประเภทขายของ
จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์มีหน้าที่ยืนคำขอจดทะเบียนการค้าและเสียภาษีการค้า โจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหายไม่มีอาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นว่า โจทกมีอำนาจฟ้องและว่า ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า และสถานที่พักและต้มฝิ่นไม่ใช่สถานการค้า พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งและคำชี้ขาดของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาว่า (๑) ในเรื่องอำนาจฟ้องนั้น จำเลยได้ให้การว่าจำเลยได้ประเมินค่ารายปีของสถานการค้าตามมาตรา ๘๑ ทวิ แจ้งไปยังโจทก์แล้ว และตามคำสั่งของจำเลยก็ให้โจทก์เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๑ ทั้งโจทก์ก็ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ต่อจำเลยที่ ๒ ๆ สนั่งยกอุทธรณ์ นับว่าเกิดมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลขึ้นแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕ (๒)ปัญหาว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีด้วยหรือไม่นั้น ศาลฎีกาปรึกษาในที่ประชุมใหญ่แล้ว ภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร (หมายถึงฉบับ พ.ศ.๒๔๘๑ ที่ใช้บังคับคดีนี้) มาตรา ๗๙ ผู้ประกอบการค้าที่มีสถานการค้าซึ่งมีค่ารายปีรวมกัน ตั้งแต่ ๑๒๐ บาทขึ้นไป มีหน้าที่ต้องเสียและปฎิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ มาตรา ๗๘ บัญญัติว่า “สถานการค้าหมายความว่า สถานที่หรือยานพาหนะซึ่งผู้ประกอบการค้าใช้ประกอบหรือดำเนินการค้า ไม่ว่าจะใช้เป็นการประจำหรือชั่วคราว ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงสถานที่หรือยานพาหนะซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าด้วย เว้นแต่รถหรือเรือซึ่งไม่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นและยานพาหนะซึ่งเคลื่อนที่ด้วยกำลังคนหรือสัตว์” ตามบทบัญญัตินี้ ถึงแม้สถานการค้าจะหมายความถึงสถานที่ที่ผู้ประกอบการค้าใช้เป็นการชั่วคราวด้วยก็ดี ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือกิจการของโจทก์ในคดีนี้จะถือเป็นการขายของตามบัญชีอัตราภาษีการค้ำประเภทที่ ๒ ได้หรือไม่ ? การขายของในที่นี้ประกอบกับวิเคราะห์ศัพท์คำว่า สถานการค้า ต้องเข้าใจว่าหมายความถึงการขายสินค้าซึ่งเป็นสิ่งที่โอนกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ ที่บุคคลผู้จะเสียภาษี ไม่อาจโอนให้แก่กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจะมีการขายและเก็บภาษีในการขายสิ่งที่เป็นมูลที่ตั้งแห่งความผิดต่อกฎหมายไม่ได้อยู่เอง สัญญาที่โ่จทก์จำเลยเรียกว่าซื้อขายฝิ่นกันในคดีนี้ หาใช่การขายฝิ่นที่ได้บัญญัติไว้ให้บุคคลใดกระทำได้ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ.๒๔๗๒ หมวด ๓ แต่ประการใดไม่ หากเป็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่ยอมให้บุคคลหนึ่งทำการตามที่ระบุไว้ได้โดยไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฝิ่นเท่านั้น ฝิ่นที่นำมาขายแก่กันจึงไม่ใช่สินค้าที่ขายกันได้ตามความหมายในประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่ต้องรับผิดในการเสียภาษีการค้าแต่อย่างใด
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share