แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จะเป็นคดีมโนสาเร่หรือไม่ให้พิจารณาตามฟ้องที่โจทก์ตั้งฟ้องมาแต่ศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ปลูกห้องแถวในที่ดินซึ่งครั้งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ ห้องแถวยังเป็นของจำเลยที่ 1 ตลอดมาตัวโจทก์เองได้แสดงต่อบุคคลภายนอกให้หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจทำสัญญาในนามของจำเลยที่ 1 ให้บุคคลภายนอกเช่าอยู่ได้ดังนี้โจทก์จะอ้างการอาศัยของจำเลยที่ 1 ขึ้นบังหน้าขับไล่บุคคลภายนอกไม่ได้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ให้มีผลเฉพาะระหว่างคู่ความชั้นอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าได้ให้จำเลยที่ 1 อาศัยที่ดินส่วนหนึ่งของโจทก์ปลูกเรือนโรงทำการค้าโดยไม่ได้ทำสัญญาหรือจดทะเบียน บัดนี้จำเลยที่ 1 ได้รื้อถอนและปลูกสร้างใหม่ผิดจากแบบแปลนและรายการที่ขออนุญาตจากโจทก์และเทศบาล และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เข้าอยู่เพื่อใช้ทำการค้า โจทก์เสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยทั้ง 3 และบริวาร ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนโรงเรือนและจัดทำที่ดินของโจทก์ให้ดีตามสภาพเดิม หรือใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาท เพื่อโจทก์ได้จัดการทำเอง
จำเลยที่ 1 รับตามฟ้อง เต็มใจจะรื้อปลูกใหม่ให้ถูกต้อง แต่หากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ยอมออก
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่าเช่าโรงเรือนนี้จากจำเลยที่ 1 มานานแล้ว เมื่อตอนจำเลยที่ 1 รื้อโรงเรือนเดิมเพื่อปลูกสร้างใหม่จำเลยได้ช่วยออกเงินค่าก่อสร้างคนละ 4,000 บาท โดยมีข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิเช่าต่อไป 5 ปี จำเลยที่ 3 มีสิทธิ 3 ปี โจทก์รู้เห็นและปล่อยให้จำเลยที่ 1 ทำการออกหน้าในเรื่องเหล่านี้ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้ง 3 ออกจากที่ดินและให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนโรงเรือนออกไปแล้วจัดทำพื้นดินของโจทก์ให้คืนดีตามสภาพเดิม
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์รู้เห็นด้วยในการที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างห้องแถวผิดแบบแปลนและรายการ โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อขับไล่จำเลยที่ 2ที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีสัญญาผูกพันกันอยู่ไม่ขาดสายและไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยที่ 2 ที่ 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หลายประการ สรุปใจความได้รวม 4 ข้อ คือ
(1) เรื่องค่าเสียหายศาลแพ่งยกแล้ว คงอุทธรณ์เฉพาะเรื่องขับไล่ ซึ่งเป็นคดีมโนสาเร่ จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้
(2) จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญากันนั้นโจทก์ไม่รู้เห็นหรือรับประโยชน์อย่างใดด้วย จำเลยที่ 1 อาศัยที่ดินโจทก์โดยมิได้ทำหนังสือและจดทะเบียน และปลูกสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์และเทศบาล
(3) ศาลแพ่งพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิพากษากลับเป็นให้ยกฟ้องของโจทก์เสียได้
(4) ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ไม่เกี่ยวข้องและไม่ผูกพันกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกขับไล่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็อยู่ต่อไปไม่ได้
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อฎีกาของโจทก์โดยลำดับคือ
ฎีกาข้อ 1 ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมอยู่ท้าย 1,000 บาท จึงมิใช่คดีมโนสาเร่
ฎีกาข้อ 2 ห้องแถวเป็นของจำเลยที่ 1 ตลอดมา จำเลยที่ 2 ที่ 3 เช่ามาช้านานแล้ว และเสียค่าเช่าให้กับจำเลยที่ 1 ข้อความเหล่านี้โจทก์ทราบดีและเป็นเหตุผลอันสมควรที่จะให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของและมีอำนาจเต็มที่ที่จะรื้อแล้วปลูกใหม่เพื่อให้จำเลยทั้ง 2 เช่าอยู่ต่อไป จำเลยทั้ง 2 จึงยอมช่วยออกเงิน โจทก์ได้เห็นสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และช่วยเหลือแก้ไขตกเติม แสดงว่าโจทก์ยอมรับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ ตัวโจทก์จะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ไม่ใช่ข้อสำคัญ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะอ้างการอาศัยของจำเลยที่ 1 ขึ้นมาบังหน้าเพื่อขับไล่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้เพราะเท่ากับลวงให้ผู้เช่าหลงเชื่อว่าเสียเงินช่วยค่าปลูกสร้างแล้วจะเช่าอยู่ต่อไปได้ตามสัญญา การฟ้องเช่นนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะให้ขับไล่ผู้เช่าได้ในระหว่างอายุสัญญาดังกล่าว
เรื่องปลูกห้องใหม่รุกเกินที่โจทก์อนุญาตและผิดแบบแปลนนั้นโจทก์ก็รู้เห็นไม่คัดค้านแสดงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ปลูกได้ในลักษณะเช่นนั้นจึงไม่มีสิทธิจะยกเอาเหตุนี้มาฟ้องขับไล่จำเลยได้ ส่วนเรื่องผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลนั้นเป็นเรื่องของเทศบาลจะดำเนินการแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์
ฎีกาข้อ 3 คำให้การของจำเลยที่ 1 แตกต่างกับของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยังคงมีสิทธิที่จะอยู่ได้ดังได้วินิจฉัยมาแล้วในฎีกาข้อ 2
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ที่ 3