คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1253/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ศาลเจ้าที่เกิดมีขึ้นตามกฎเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่15 มี.ค. 2463 ซึ่งออกตามพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ.2457 มาตรา123 นั้นหาได้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่เพราะตามกฎนี้กำหนดว่าให้ที่ศาลเจ้ามีหนังสือสำคัญหรือโฉนดนั้นก็คือให้ปฏิบัติการอย่างบุคคลธรรมดาไม่มีข้อความพิเศษให้ลบล้างกฎหมายฉะนั้นเมื่อผู้ดูแลปล่อยปละให้บุคคลอื่นเข้าครอบครองที่ศาลเจ้าๆ ก็อาจสูญเสียที่ไปอย่างการสูญเสียที่ของบุคคลธรรมดานั้นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทและที่นอกพิพาทมีเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ที่นี้เมื่อ ร.ศ.115 จีนโยงสางกับพวกได้สละเงินจัดหามาและก่อตั้งศาลเจ้าไหหลำขึ้น ต่อมามีการอุทิศที่ดินและอาคารให้เป็นของกลางสำหรับมหาชนและได้ขึ้นทะเบียนต่อเจ้าพนักงานไว้แล้วจึงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีการแต่งตั้งผู้จัดการปกครองและผู้ตรวจตราสอดส่องตลอดมา โจทก์ที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้านี้ในปัจจุบัน ตามกฏเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกุศลสถานชนิดศาลเจ้า ลงวันที่ 15 มีนาคม 2463 เมื่อเดือนสิงหาคม 2497 จำเลยได้บังอาจรื้อถอนรั้วเขตที่เข้าไปปลูกเรือนในบริเวณที่ของศาลเจ้า จึงได้มาฟ้องให้ศาลบังคับ

จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยได้รับมรดกที่พิพาทมาจากมารดา มารดาจำเลยได้รับมรดกที่พิพาทมาจากยายจำเลย จำเลยได้ปกครองติดต่อกันมากว่า 30 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์

โจทก์จำเลยต่างรับกันว่าเดิมที่พิพาทเป็นของศาลเจ้าจริงแต่ยายจำเลยได้เข้าครอบครองมา เมื่อยายจำเลยตายลง มารดาจำเลยได้รับมรดกและปกครองมาอีกเกือบ 30 ปี เมื่อมารดาจำเลยตาย จำเลยกับพวกได้มรดกได้ปกครองมาอีก 5-6 ปี แล้วทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยานบุคคล คงอ้างแต่เอกสารเป็นพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยได้ปกครองโดยสงบเปิดเผยเกิน 10 ปีโจทก์จึงขาดปกครอง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลเจ้าเป็นที่กุศลสถานประเภทหนึ่งใช้เป็นสถานที่เคารพและประกอบพิธีกรรมตามลัทธิของมหาชนบางจำพวกมีกฏเสนาบดีคุ้มครองตามกฏเสนาบดีข้อ 4 กำหนดให้ที่ดินที่ศาลเจ้าตั้งมีโฉนดหรือหนังสือสำคัญ เพื่อแสดงสิทธิเหนือที่หรือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่นั้น ดังนี้จึงเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่ดิน ในลักษณะเดียวกับคนธรรมดา ไม่มีข้อความใดที่บัญญัติเปลี่ยนแปลงลบล้างกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 และกฎหมายที่จะออกภายหลัง เช่นประมวลกฎหมายแพ่งฯ เป็นต้น เพราะฉะนั้นที่ศาลเจ้าจึงมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อทอดทิ้งอาจหมดกรรมสิทธิ์ หรือขาดสิทธิครอบครองได้ ที่พิพาทนี้ได้ถูกทอดทิ้งให้จำเลยและญาติครอบครองติดต่อกันมาเกิน 30 ปี โจทก์ไม่มีทางชนะคดีจำเลย

จึงพิพากษายืน

Share