แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พะยานในพินัยกรรม 2 คนซึ่งไม่ได้ลงชื่อในขณะทำพินัยกรรมพร้อมกัน คนหนึ่งลงชื่อไว้ในภายหลับ แม้จะได้สอบถามตัวเจ้ามรดกหรือไม่ก็ตาม พะยานเช่นนี้ย่อมเรียกไม่ได้ว่าเป็นพะยานในพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.ม.1656
พะยานผู้เขียนพินัยกรรมซึ่งลงชื่อไว้ในช่องผู้เขียนแยกต่างหากจากช่องพะยานในพินัยกรรม เช่นนี้จะถือผู้เขียนเป็นทั้งพะยานในพินัยกรรมและพะยานผู้เขียนด้วยไม่ได้
ผู้ทำพินัยกรรมพิมพ์ลายนิ้วมือไว้โดยมีพะยานเซ็นชื่อรับรองในขณะนั้นเพียงคนเดียวดังนี้เป็นการไม่ชอบตามมาตรา 1665
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงที่ไม่มีข้อโต้เถียงกันได้ความว่านางพันถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๙๓ มีบุตร ๙ คน คือนางเฮียะ จำเลยนางทองอยู่ นางสาวลมูล นางละออ นางละม่อม นางสาวโหมด นางถนอมและโจทก์ นางเฮียะถึงแก่ความตายไปก่อนแต่มีบุตร คือ นายเจริญ นางพันมีทรัพย์มรดก ๑ ถึง ๑๒ ทรัพย์หมายเลข ๕ คือตัวเงินสด ๒๕,๐๐๐ บาทอยู่ที่จำเลย ขอให้เอามารวมกันแบ่งให้โจทก์ ๑ ใน ๙ ส่วน
จำเลยรับในเรื่องเครือญาติและทรัพย์ตามหมายเลขที่ต่างยินยอมให้แบ่งเป็นมรดกตามส่วน คงปฏิเสธทรัพย์หมายเลข ๕ เงินสด ๒๕,๐๐๐ บาทนั้นว่าไม่มีที่จำเลย และที่ดินหมายเลข ๖-๗ โต้แย้งว่านางพันได้ทำพินัยกรรมแบ่งส่วนให้แก่บุตรหลานไปแล้วขอให้เป็นไปตามพินัยกรรมและขอให้กันเงินค่าทำศพ
นางทองอยู่และนางถนอมร้องสอดขอส่วนแบ่งศาลอนุญาต
นายเจริญ นางสาวลมูล นางละออ นางละม่อม และนางสาวโหมดโดยจำเลยเป็นผู้แทนฉะเพาะคดี ร้องสอดขอส่วนแบ่งในกองมรดก ฝ่ายโจทก์คัดค้านว่าผู้ร้องสอดเหล่านี้นอกจากนางสาวโหมดมิได้ครอบครองทรัพย์มรดกทุกรายการ และร้องขอเข้ามาเมื่อขาดอายุความมรดกแล้ว ผู้ร้องสอดทั้ง ๕ คนนี้จึงร้องขอเข้าเป็นจำเลยในคดีด้วย ศาลอนุญาตนางละม่อมถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาคดี ศาลอนุญาตให้นายอุตโมจำเลยเป็นผู้รับมรดกความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เอาทรัพย์หมายเลข ๑ ถึง ๔ และ ๖ ถึง ๑๑ และให้จำเลยส่งผลประโยชน์หมายเลข ๑๒ เป็นเงินสด ๕๐๐ บาทมาแบ่งออกเป็น ๙ ส่วนให้โจทก์ นายอุตโม จำเลย นางถนอม นางทองอยู่ นางสาวลมูล นางละออ นางสาวโหมดโดยนายอุตโมจำเลยเป็นผู้แทนฉะเพาะคดี นางละม่อมโดยนายอุตโมจำเลยเป็นผู้รับมรดกความ และนายเจริญคนละ ๑ ส่วน แบ่งไม่ตกลงให้ประมูลราคากันเอง มิฉะนั้นให้ขายทอดตลาดไป หักค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความฝ่ายละ ๓๐๐ บาท ค่าทำศพ ๙,๐๐ บาทไว้ก่อน
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อมา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า:-
๑. พินัยกรรมตามที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพะยานมิได้ลงชื่อในขณะทำพินัยกรรมพร้อมกันตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕๖ เงิน ๕๐๐ บาทอันเป็นผลประโยชน์จากที่ดินตามพินัยกรรมฉบับนั้นจำเลยจึงคัดค้านไม่ได้เช่นเดียวกัน
๒. เงินสด ๒๕,๐๐๐ บาทโจทก์นำสืบเลื่อนลอย
๓. นายอุตโมจำเลยรับรองอยู่แล้วว่าครอบครองมรดกแทนนายเจริญด้วย และโจทก์ฟ้องขอส่วนแบ่งเพียง ๑ ใน ๙ ส่วนเท่านั้น จะอุทธรณเกินคำขอตามฟ้องโจทก์ไม่ได้
โจทก์และจำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของโจทก์เรื่องเงินสด ๒๕,๐๐๐ บาท โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ส่วนฎีกาของจำเลยเรื่องพินัยกรรมนั้นเห็นว่า พินัยกรรมฉบับนี้มีพะยานลงชื่อในช่องพะยานสองคน คือนายโตกับนายชม และนายเก็บลงช่องผู้เขียน ข้อเท็จจริงปรากฎว่าขณะทำพินัยกรรมมีนายโตพะยานคนเดียวเป็นคนจัดทำให้โดยนายเก็บเป็นคนเขียนส่วนนายชมไปเก็บน้ำตาลเสีย ไม่ได้อยู่รู้เห็นด้วยในขณะทำพินัยกรรม แต่ไปลงชื่อไว้ในภายหลัง แม้จะได้สอบถามตัวนางพันเจ้ามรดกอีกหรือไม่ก็ตามย่อมเรียกไม่ได้ว่านายชมเป็นพะยานในพินัยกรรมนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.๑๖๕๖
ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่านายเก็บได้อยู่รู้เห็นร่วมกับนายโตตลอดเวลา ควรรับฟังว่านายเก็บเป็นพะยานในพินัยกรรมด้วยได้และอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๓/๒๔๙๒ ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าพะยานในพินัยกรรมฉบับนี้เซ็นชื่อกันไว้ตอนบนส่วนหนึ่งต่างหากซึ่งนายเก็บมิได้เกี่ยวข้อร่วมอยู่ด้วยแต่อย่างใดเลย ต่อจากนั้นลงไปเป็นหมายเหตุแสดงให้รู้ว่าพินัยกรรมทำกันกี่ฉบับ ใครเป็นผู้เก็บรักษาซึ่งนายเก็บได้เซ็นชื่อในตอนล่างนี้และแสดงฐานะว่าตนเป็นแต่เพียงผู้เขียนเท่านั้น นายเก็บจึงมีฐานะเป็นผู้เขียนพินัยกรรมแต่อย่างเดียว ไม่ใช่พะยานในพินัยกรรมฉบับนี้ เทียบกันคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๙๖/๒๔๙๒ ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงต่างกันมาก
อนึ่งนางพันผู้ทำพินัยกรรมได้พิมพ์นิ้วมือไว้ต้องมีพะยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนในขณะนั้น แต่มีนายโตเซ็นชื่อรับรองในขณะนั้นเพียงคนเดียวไม่ชอบตามมาตรา ๑๖๖๕ พินัยกรรมฉบับนี้จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๖๕๖ และ ๑๗๐๕
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาโจทก์และจำเลย