คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7757/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่อ้างว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรนาย บ. และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ของนาย บ. จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนท้องถิ่นของจำเลยที่ 2 ว่า เด็กหญิง ญ. เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับนาย บ. เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หลงเชื่อจึงออกสูติบัตรของเด็กหญิง ญ. ให้นั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่พาดพิงถึงโจทก์ทั้งสอง สูติบัตรที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ออกให้ก็ไม่มีข้อความเกี่ยวพันถึงโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด การยื่นคำร้องและการแจ้งข้อความขอออกสูติบัตรที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ออกสูติบัตรของเด็กหญิง ญ. ก็ดี ไม่เป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองตามกฎหมายแพ่ง และไม่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าสูติบัตรของเด็กหญิงญานี กัมมารังกูร ฉบับลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๖ เป็นเอกสารเท็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินการเพิกถอนสูติบัตรเท็จดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษา ของศาลแสดงแทนเจตนาของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ตามคำฟ้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับ สิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นกรณีจะต้องใช้สิทธิทางศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ หรือไม่ ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นเรื่องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องและแจ้งข้อความ อันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนท้องถิ่นของจำเลยที่ ๒ ว่า เด็กหญิงญานี กัมมารังกูร เป็นบุตรของจำเลยที่ ๑ กับ นายบุณย์ กัมมารังกูร เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ หลงเชื่อจึงออกสูติบัตรของเด็กหญิงญานีให้ เห็นว่า ในการยื่นคำร้อง และแจ้งข้อความตามคำฟ้องดังกล่าว ไม่มีข้อความตอนใดที่พาดพิงถึงโจทก์ทั้งสอง สูติบัตรที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ออกให้ก็ไม่มีข้อความเกี่ยวพันถึงโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด การยื่นคำร้องและการแจ้งข้อความขอออกสูติบัตรที่จำเลยที่ ๑ กระทำต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ออกสูติบัตรของเด็กหญิงญานีก็ดี ไม่เป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองตามกฎหมายแพ่ง และไม่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ เพิกถอนสูติบัตรของเด็กหญิงญานีเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายบุณย์ และโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุณย์ หากยังปล่อยให้จำเลยที่ ๑ ใช้สูติบัตรเท็จแสดงต่อบุคคลทั่วไป และนำมายื้อแย่งมรดกของนายบุณย์แล้วจะทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า หากมีกรณีเกิดขึ้นตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกา ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิสูจน์ไปตามขั้นตอนว่าเด็กหญิงญานีเป็นบุตรของนายบุณย์จริงหรือไม่ เป็นคดีต่างหาก กรณีเกี่ยวกับสูติบัตรของเด็กหญิงญานียังถือไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง คำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share