คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำรับของจำเลยที่ว่าตนเป็นคนลักทรัพย์ผู้เสียหายไปต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนนั้น แม้จะถือว่าเป็นคำรับอันเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของจำเลยและสามารถใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ก็ตาม แต่โจทก์ต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามคำรับด้วยจึงจะลงโทษจำเลยได้เพราะเป็นภาระหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นเช่นนั้นเมื่อโจทก์ไม่มีพยานเห็นว่าจำเลยเป็นคนร้าย ทั้งผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือแฝงที่ปรากฏบนพื้นกระจกโต๊ะและกระจกบานเกล็ดในที่เกิดเหตุเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยแล้วพบว่าลายพิมพ์นิ้วมือแฝงมีจุดลักษณะสำคัญพิเศษของลายเส้นแตกต่างจากลายพิมพ์นิ้วมือ10 นิ้ว ของจำเลย กรณีจึงไม่พอฟังลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยงัดบานเกล็ด 5 บาน และมุ้งลวดหน้าต่างบ้านนางกัลยาพงษ์ภมร ผู้เสียหาย จนหลุดออกและเอื้อมมือลอดช่องหน้าต่าง บิดลูกบิดประตูหลังบ้านแล้วเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหาย และจำเลยลักสร้อยคอทองคำหนัก3 บาท 1 เส้น ราคา 21,000 บาท สร้อยข้อมือทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคา 14,000บาท สร้อยข้อมือทองคำหนัก 3 บาท 1 เส้น ราคา 21,000 บาท แหวนทองคำสลักนามสกุลหนัก 2 สลึง 1 วง ราคา 3,500 บาท ตุ้มหูทองคำ 2 คู่ หนักคู่ละ 2 สลึง ราคา7,000 บาท และเหรียญกษาปณ์ในกระปุกออมสินจำนวน 1,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น68,000 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลทับปุด อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เจ้าพนักงานยึดเหรียญกษาปณ์จำนวน1,373 บาท ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นของกลางและผู้มีชื่อพบแหวนทองคำสลักนามสกุลหนัก 2 สลึง 1 วง กับกระปุกออมสินมอบให้พนักงานสอบสวนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 63,127 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(3)(8) (ที่ถูกมาตรา 335(1)(3)(8) วรรคสอง) จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 63,127 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องมีคนร้ายงัดบานเกล็ดหน้าต่างบ้านพักผู้เสียหายเข้าไปลักสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำสลักนามสกุล ตุ้มหูทองคำ และเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจโทไพรัช พงษ์ภมรสามีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า หลังเกิดเหตุประมาณ 3 วัน จ่าสิบตำรวจเศียรอุ่นเสียม ซึ่งเป็นญาติกับสิบตำรวจเอกนิทัศน์ เต็มพุฒิ สามีจำเลย เรียกสิบตำรวจโทไพรัชจำเลย และสามีจำเลยมาพบที่บ้านของจ่าสิบตำรวจเศียรเพื่อพูดคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นและจากการพูดคุยกันจำเลยยอมรับว่าเป็นคนลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปจริงซึ่งจ่าสิบตำรวจเศียรก็เบิกความยืนยันว่าจำเลยยอมรับเช่นนั้น ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าจำเลยยอมรับดังกล่าวจริง คำรับของจำเลยต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนถึงการกระทำความผิดของตนเอง แม้จะถือว่าเป็นคำรับอันเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของจำเลยสามารถใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ก็ตาม แต่โจทก์จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามคำรับด้วย จึงจะลงโทษจำเลยได้ เพราะเป็นภาระหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นเช่นนั้น การที่โจทก์มีสิบตำรวจตรีสุรฤทธิ์ ลูกประคำ เป็นพยานเบิกความว่า คืนเกิดเหตุเห็นหญิงคนหนึ่งคล้ายจำเลยเดินลัดสนามหญ้ามุ่งหน้าไปยังอาคารที่เกิดเหตุ แต่จำหน้าไม่ได้ว่าเป็นจำเลยหรือไม่ ทั้ง ๆที่พยานปากนี้รู้จักครอบครัวของจำเลยมาก่อน และเห็นกันในระยะห่างเพียง 10 เมตร ย่อมแสดงว่าหญิงคนนั้นไม่ใช่จำเลย เพราะถ้าเป็นจำเลยสิบตำรวจตรีสุรฤทธิ์จะต้องจำหน้าได้อย่างแน่นอน ส่วนที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นห้องพักของจำเลยพบเหรียญกษาปณ์จำนวนหนึ่งอยู่ในตู้เสื้อผ้าของจำเลยร้อยตำรวจเอกกิตติพันธ์ สัญพิบูลย์ผู้ตรวจค้นเบิกความยอมรับว่าเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวใคร ๆ ก็มีได้ พยานหลักฐานของโจทก์ข้างต้นไม่ได้ทำให้คำรับของจำเลยมีน้ำหนักมั่นคงขึ้น นอกจากนี้สิบตำรวจโทไพรัชเบิกความว่า สิบตำรวจเอกนิทัศน์สามีจำเลยยอมรับสารภาพว่าได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยต่อหน้าร้อยตำรวจเอกกิตติพันธ์ ก็ปรากฏว่าร้อยตำรวจเอกกิตติพันธ์เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องและพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องสิบตำรวจเอกนิทัศน์ ส่วนการตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือแฝงที่ปรากฏอยู่บนพื้นกระจกโต๊ะและกระจกบานเกล็ดในที่เกิดเหตุเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยและสิบตำรวจเอกนิทัศน์ ที่จ่าสิบตำรวจบุญโชค พงษ์อินทร์และร้อยตำรวจเอกกิตติพันธ์เบิกความว่า กองวิทยาการตำรวจสุราษฎร์ธานีและกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ไม่สามารถตรวจสอบลายนิ้วมือแฝงดังกล่าวได้เพราะตัวอย่างลายพิมพ์นิ้วมือแฝงไม่ชัดเจนนั้น ก็ไม่ตรงกับความจริง เนื่องจากร้อยตำรวจเอกหญิงศิธร พรมศรี ผู้ชำนาญการพิเศษกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจได้ตรวจพิสูจน์แล้วพบว่าลายพิมพ์นิ้วมือแฝงมีจุกลักษณะสำคัญพิเศษของลายเส้นแตกต่างกับลายพิมพ์นิ้วมือ 10 นิ้ว ของจำเลยและสิบตำรวจเอกนิทัศน์ จึงลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือแฝงของบุคคลทั้งสอง ตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารท้ายฎีกาซึ่งนายชัยนันท์ งามขจรกุลกิจ รองอัยการจังหวัดพังงา รับรองสำเนาถูกต้อง เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์คงมีแต่คำรับของจำเลยโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share