คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7745/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำเบิกความของ ว. และ ส. พยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งศาลต้องบันทึกไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยทั้งสองมีผิดหรือบริสุทธิ์ โจทก์จึงชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ตามมาตรา 226 แต่ในการสืบพยานโจทก์ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบ ว. และ ส. เนื่องจากความผิดของโจทก์ที่ละเลยเพิกเฉยไม่เอาใจใส่ในการส่งหมายเรียกให้พยานหรือนำพยานมาศาล จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของ ว. และ ส. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบพยานหลักฐานอื่นในชั้นพิจารณาได้ตามมาตรา 226/5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยและได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการรับประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เดิมใช้ชื่อว่าบริษัทไทยประสิทธิ์ประกันภัย จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทมิตรแท้ประกันภัย จำกัด การฟ้องและดำเนินคดีนี้โจทก์มอบอำนาจให้นางสาววิมาลา เป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ดำเนินกิจการสถานพยาบาลชื่อโรงพยาบาลศิวเวช จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังเป็นแพทย์และเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลและดำเนินการสถานพยาบาลศิวเวชด้วยมีนายชาญชัย เป็นแพทย์และทำงานในโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิหมายเลขทะเบียน สงขลา บ-8829 จากจ่าสิบตำรวจสุธีร์หรือธนยศ มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2542 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2542 นายสุมิตร ขับรถจักรยานยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ โดยมีจ่าสิบตำรวจสุธีร์นั่งซ้อนท้ายไปด้วยและประสบอุบัติเหตุเนื่องจากหักหลบสุนัข ทำให้จ่าสิบตำรวจสุธีร์ได้รับบาดเจ็บ จ่าสิบตำรวจสุธีร์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 ในระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2542 เวลา 10 นาฬิกา จนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2542 เวลา 11 นาฬิกา โดยไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เบิกค่ารักษาพยาบาลจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยโดยไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรายการและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันนำคำร้องขอค่าเสียหายเบื้องต้นซึ่งลงนามโดยจำเลยที่ 2 พร้อมใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก/ในและใบรายงานผลการชันสูตรและความเห็นของแพทย์ประกอบหนังสือมอบอำนาจของจ่าสิบตำรวจสุธีร์มายื่นต่อโจทก์เพื่อขอเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในลักษณะของค่าเสียหายเบื้องต้นของผู้ประสบภัยจากรถดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นเงิน 9,760 บาท โดยมีข้อความที่ไม่เป็นความจริงหลายประการ กล่าวคือตามรายงานผลการชันสูตรและความเห็นของแพทย์ระบุอาการป่วยของจ่าสิบตำรวจสุธีร์ว่า ปวดศีรษะ ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน จำเหตุการณ์ได้บ้าง ความจริงจ่าสิบตำรวจสุธีร์ไม่มีอาการปวดศีรษะหรือมึนงงแต่อย่างใด และยังระบุว่า ปวดข้อศอกซ้ายบวมมากขยับไม่ได้ ความจริงข้อศอกซ้ายไม่บวมและขยับได้กับระบุว่า ข้อศอกขวาบวมและเจ็บพอทน ขยับลำบาก ความจริงข้อศอกขวาไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ ทั้งระบุว่าเข่าขวาบาดเจ็บทั้งที่ไม่บาดเจ็บ นอกจากนั้นในใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลระบุรายการค่ารักษาพยาบาลเป็นค่ากายภาพบำบัด 5 ครั้งทั้งที่ไม่มีการทำกายภาพบำบัด ต่อมาโจทก์พบจ่าสิบตำรวจสุธีร์ซึ่งยืนยันว่า ตนไม่มีบาดแผลหรืออาการป่วยเจ็บตามรายการที่ระบุเป็นเท็จดังกล่าว อาการบาดเจ็บที่ระบุมากกว่าหรือหนักกว่าความเป็นจริงจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองรักษาพยาบาลจ่าสิบตำรวจสุธีร์ผู้ประสบภัยจากรถมากกว่าสิ่งที่จำเลยทั้งสองกระทำลงไปจริง เพื่อให้โจทก์หลงเชื่อและจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองตามจำนวนที่เรียกร้อง อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เอกสารการรักษาพยาบาล ใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก/ใน และใบรายงานผลการชันสูตรและความเห็นของแพทย์ดังกล่าวเป็นเอกสารแสดงผลการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลอันเป็นเท็จ จำเลยทั้งสองกับพวกจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานประกอบคำขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากโจทก์ จึงเป็นการที่จำเลยทั้งสองโดยเจตนาทุจริตร่วมกันยื่นเอกสารอันเป็นเท็จ ทำให้โจทก์หลงเชื่อและเข้าใจว่าจำเลยทั้งสองได้ให้การรักษาพยาบาลผู้ประสบดังกล่าวไปจริงตามเอกสารที่จำเลยทั้งสองจัดทำขึ้นหรือรับรอง และจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้รับอนุญาตดำเนินการและเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และแพทย์ของจำเลยที่ 1 จัดทำหรือยินยอมให้ผู้อื่นจัดทำหลักฐานเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการเอกสารการตรวจโรค เอกสารแสดงผลการรักษาอันเป็นเท็จ นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในฐานะเป็นแพทย์ที่รู้เห็นการทำคำรับรองในการประกอบการงานในวิชาแพทย์เป็นเอกสารอันเป็นเท็จนั้น โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 73, 74 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 269, 341 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 45
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 ให้ประทับฟ้องส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟังคำเบิกความพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบการวินิจฉัยคดี จึงไม่ชอบ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจวินิจฉัยคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบการวินิจฉัยคดีแล้ว การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า แม้คำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งศาลต้องบันทึกไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยทั้งสองมีผิดหรือบริสุทธิ์ โจทก์จึงชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้นำบันทึกคำเบิกความของนางสาววิลามา ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และจ่าสิบตำรวจสุธีร์หรือธนยศ ผู้ได้รับบาดเจ็บพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดหรือไม่ นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการสืบพยานโจทก์ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบนางสาววิมาลาและจ่าสิบตำรวจสุธีร์หรือธนยศพยานโจทก์ เนื่องจากความผิดของโจทก์ที่ละเลยเพิกเฉยไม่เอาใจใส่ในการส่งหมายเรียกให้พยานหรือนำพยานมาศาล จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของนางสาววิมาลาและจ่าสิบตำรวจสุธีร์หรือธนยศในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบพยานหลักฐานอื่นในชั้นพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/5 ที่แก้ไขใหม่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังนั้น แม้จะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นก็ไม่อาจนำบันทึกคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้นมารับฟังประกอบการวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสอง”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share