แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ให้คำนิยามของคำ’ผู้เช่านา’ว่า หมายความถึงผู้ที่เช่านาเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ และ’ผู้ให้เช่านา’หมายความว่าผู้ที่ให้เช่านาเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่คำว่าส่วนใหญ่ในที่นี้หมายถึงส่วนใหญ่ของเนื้อที่ดินส่วนที่เช่ากัน ไม่ได้หมายถึงส่วนใหญ่ของเนื้อที่ดินทั้งแปลง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ.2517 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลจึงต้องพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายให้สิ้นกระแสความเสียก่อนแล้วจึงพิพากษาไปตามประเด็นข้อโต้เถียง ไม่ควรด่วนงดสืบพยานแล้วพิพากษาคดีไปโดยไม่ฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินนาจากจำเลยที่ 2 เนื้อที่ 60 ไร่ของทั้งแปลงเนื้อที่ 200 ไร่เศษ ทำนาติดต่อกันมาจนถึงปี 2523 จึงทราบว่าจำเลยที่ 2ได้ขายที่ดินทั้งแปลงให้จำเลยที่ 1 ในปี 2522 โดยไม่ได้แจ้งหรือบอกขายเป็นหนังสือพร้อมราคาและวิธีการชำระเงินให้โจทก์หรือผู้เช่ารายอื่นทราบก่อนโจทก์ประสงค์จะซื้อที่ดินที่โจทก์เช่าตามราคาที่จำเลยที่ 2 ขาย แม้จำเลยที่ 1 ซื้อมาแล้วก็ต้องขายให้โจทก์ในราคาเดิม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนขายที่ดินดังกล่าวจำนวน 60 ไร่ หากขัดขืนให้จำเลยส่งโฉนดต่อศาลเพื่อโจทก์นำคำพิพากษาไปโอนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่เคยเช่านาพิพาท จำเลยที่ 2 ทำนาเองและให้คนอื่นเช่านา โจทก์เข้าแย่งทำนาในปี 2524 เนื้อที่ 60 ไร่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินตามโฉนดพิพาทเป็นพื้นที่นาประมาณ 200 ไร่ โจทก์เช่าทำนาอยู่ 60 ไร่ จึงเป็นการเช่าทำนาเพียงบางส่วนหรือส่วนน้อยเท่านั้น โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นาของจำเลยมีเนื้อที่ 200ไร่เศษ โจทก์เช่าเพียง 60 ไร่ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของนาทั้งหมด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เช่านาตามความหมายของพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คำนิยามของคำว่า “ผู้เช่านา” ว่าหมายความถึงผู้ที่เช่านาเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ และ “ผู้ให้เช่านา” หมายความว่าผู้ที่ให้เช่านาเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ คำว่าส่วนใหญ่ในที่นี้หมายถึงส่วนใหญ่ของเนื้อที่ดินส่วนที่เช่ากัน ไม่ได้หมายถึงส่วนใหญ่ของเนื้อที่ดินทั้งแปลง กล่าวคือ เฉพาะที่ดินที่เช่ากันนี้ไม่ว่าจะมีจำนวนเนื้อที่ทั้งแปลงหรือเพียงบางส่วน แม้จะไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งแปลงของผู้ให้เช่าก็ตาม ถ้าหากทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ให้ใช้ที่ดินส่วนที่เช่าเพื่อการทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ถือว่าเป็นผู้เช่านาและผู้ให้เช่านาตามบทนิยามดังกล่าว คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลจึงต้องพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายให้สิ้นกระแสความเสียก่อนแล้วจึงพิพากษาไปตามประเด็นข้อโต้เถียง ศาลชั้นต้นไม่ควรด่วนงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาไปโดยไม่ฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน