คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้สืบสันดานโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1643หมายถึงผู้สืบสันดานในทางสืบสายโลหิตโดยแท้จริง บุตรบุญธรรมนั้นกฎหมายถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมแต่บุตรบุญธรรมหาใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรม (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2528)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางริ้วเจ้ามรดกมีบุตร 2 คน คือ จำเลยกับนายน้อม แต่นายน้อมถึงแก่ความตายไปก่อนนางริ้ว โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรบุญธรรมของนายน้อม จึงมีสิทธิรับมรดกของนางริ้วแทนที่นายน้อม ขอให้จำเลยแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามกึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงบุตรบุญธรรมของนายน้อมหาใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายน้อมไม่ จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายน้อม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายน้อม ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายน้อม จึงมีสิทธิรับมรดกของนางริ้วแทนที่นายน้อมได้ ให้จำเลยแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามกึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า บุตรบุญธรรมนั้นกฎหมายถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมก็จริงแต่บุตรบุญธรรมหาใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ คำว่า ผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา 1643 นั้น หมายถึงผู้สืบสันดานในทางสืบสายโลหิตโดยแท้จริง หาใช่ผู้สืบสันดานโดยอ้อมเพียงการสมมุติของกฎหมายเท่านั้นไม่ การที่มาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าบุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการที่จะให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมตาม มาตรา 1629(1) เท่านั้น แต่การรับมรดกแทนที่นั้นไม่เหมือนกับการรับมรดกธรรมดาเพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 1643 ว่า ผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ต้องเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง คือต้องเป็นผู้สืบสันดานในทางสืบสายโลหิตโดยแท้จริงด้วย มิใช่เพียงแต่เป็นผู้สืบสันดานโดยอ้อมเพียงการสมมุติของกฎหมายเท่านั้น แม้แต่คู่สมรสของบุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมที่ใกล้ชิดของบุตรเจ้ามรดกคนหนึ่งตามมาตรา 1629 วรรคท้าย ก็ยังไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่บุตรเจ้ามรดกได้ เพราะไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงฉันใด บุตรบุญธรรมของบุตรเจ้ามรดกก็ย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่บุตรเจ้ามรดกได้ฉันนั้น ทั้งนี้ก็เพราะการรับมรดกแทนที่นั้นกฎหมายมุ่งหมายให้เป็นสิทธิของหลานหรือเหลนที่มีความสัมพันธ์ในทางสายโลหิตเพื่อสืบมรดกของวงศ์ตระกูลต่อไปเท่านั้นเองว่าโดยเหตุผลจะเห็นได้ว่าบุตรบุญธรรมนั้นมีความสัมพันธ์พิเศษเป็นการเฉพาะตัวกับผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น จึงมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1627, 1629(1) ได้ แต่บุตรบุญธรรมหาได้มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับญาติอื่นของผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยไม่ ฉะนั้นบุตรบุญธรรมจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของมารดาผู้รับบุตรบุญธรรมแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้ตามมาตรา 1643
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share