คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4045/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถขอแบ่งมรดกของผู้เสมือนไร้ความสามารถ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง โดยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถเพราะเป็นเพียงผู้พิทักษ์ มีอำนาจหน้าที่เพียงแต่ให้ความยินยอมหรือไม่แก่ ผู้เสมือนไร้ความสามารถเท่านั้น ผู้เสมือนไร้ความสามารถคือ โจทก์ในคดีนี้จึงมาเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองโดยได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ ดังนี้ ฟ้องโจทก์ย่อมไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน และศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ ไม่จำต้องพิพากษาคดีตามศาลอุทธรณ์ในคดีก่อน เพราะคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนย่อมสิ้นผลโดยคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน ดังนั้นศาลอุทธรณ์คดีนี้จึงย่อมพิพากษากลับกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีก่อนได้
ทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์จำเลยเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน และต่างได้ร่วมกันปกครองทรัพย์มรดกดังกล่าวตลอดมาจนมารดาโจทก์ จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้งมารดาโจทก์ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ต้องถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ในระหว่างจัดการ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 อายุความจึงสะดุดหยุดลง ตั้งแต่นั้นมา โจทก์มาฟ้องขอแบ่งมรดกเมื่อเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดก ถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถโดยตาบอดทั้งสองข้างมีนางสนิท ภริยาเป็นผู้พิทักษ์ โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นนพี่น้องร่วมบิดามารดากัน บิดาโจทก์มีทรัพย์สินสิบสองล้านบาท และถึงแก่กรรมทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกได้แก่มารดาโจทก์ และจำเลยทั้งสองคนเท่า ๆ กัน คิดเป็นเงินคนละสามล้านบาท โจทก์กับจำเลยทั้งสองต่างปกครองทรัพย์ร่วมกันมา ขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ตามส่วนเป็นเงิน ๓ ล้านบาท
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลอนุญาต
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ทรัพย์ตามที่ฟ้องไม่ใช่ทรัพย์ของบิดา โจทก์ไม่เคยร่วมปกครองทรัพย์ คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ ๑ ในข้อหาเดียวกันนี้ศาลฎีกาพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินให้โจทก์ ๕๓๓,๓๓๓.๓๓ บาท ให้ยกฟ้องนอกจากนั้น
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ ๑ ฎีกาประการต่อมาว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๕๔๐๘/๒๕๒๐ ของศาลแพ่งได้ความว่าคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ในคดีก่อนเป็นเพียงผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถ ผู้พิทักษ์มีอำนาจหน้าที่เพียงแต่ให้ความยินยอมหรือไม่แก่ผู้เสมือนไร้ความสามารถในกิจการที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ผู้เสมือนไร้ความสามารถคือโจทก์ในคดีนี้จึงมาเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองในคดีนี้โดยได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนส่วนที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ควรพิพากษาเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อน การพิพากษากลับกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนเป็นสิ่งที่กระทำมิได้ เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนย่อมสิ้นผลโดยคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ จำเลยที่ ๑ หาอาจที่จะกล่าวอ้างถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สิ้นผลแล้วมาบังคับให้ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้จำต้องพิพากษาตามได้ไม่
จำเลยที่ ๑ ฎีกาอีกว่า คดีนี้เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม๒๕๑๔ แต่โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๓ หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วถึง ๑๐ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ ซึ่งกำหนดให้ต้องฟ้องภายใน ๑ ปี ได้ความจากนายวรศักดิ์ว่าหลังจากบิดาตายแล้วมารดารวมทั้งโจทก์และจำเลยที่ ๒ ก็ได้เคยเข้าไปอยู่ที่โรงเรียนผ่องเพ็ญวิทยาที่ดอนเมืองอยู่กันตลอดมาจนเกิดพิพาท จำเลยที่ ๑ ให้รื้อร้านอาหารเพื่อจะทำเป็นห้องเรียนจนถึงขั้นมารดาต้องไปแจ้งความกับตำรวจและนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ในเวลาต่อมา ส่วนโจทก์ก็ถูกจำเลยที่ ๑ บีบบังคับทำนองเดียวกันจนเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีก่อนและคดีนี้แสดงว่าทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์จำเลยเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน และต่างได้ร่วมกันปกครองทรัพย์มรดกดังกล่าวตลอดมา จนมารดาโจทก์จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้งมารดาโจทก์จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งต้องถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ในระหว่างจัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๖ อายุความจึงสะดุดหยุดลงตั้งแต่นั้นมาเป็นดังนี้คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง
จำเลยที่ ๑ ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า มรดกของผู้ตายรายนี้ศาลได้ตั้งนางยุพินมารดาโจทก์จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวเท่านั้นจึงจะมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากบุคคลภายนอกได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ความข้อนี้ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้นทุกประการ
พิพากษายืน

Share