คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4511-4512/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินกิจการทั้งหลายของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องอาศัย ช. หุ้นส่วนผู้จัดการดำเนินการแทน เมื่อ ช. มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ติดต่อกับโจทก์ คิดบัญชีหนี้สินที่เกี่ยวค้างกัน และยังมอบงานบางอย่างให้จำเลยที่ 2 ทำ โดยให้ใช้ตราของห้างได้ในชั้นส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานก็ได้ส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองของนายทะเบียน ในคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันนั้น ช. ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อศาลอนุญาต ช.ได้ทำสัญญาประกันตัวจำเลยที่ 2 ตามคำร้องดังกล่าวมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 ว่าเป็นจำเลยไว้อย่างชัดแจ้ง ช.ย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง และที่จำเลยที่ 2ต่อสู้คดีในนามของจำเลยที่ 1 มาแต่แรก ช. ก็ไม่ได้คัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 2 พฤติการณ์ของ ช. ดังกล่าวแสดงว่า ช. ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีแทนตนในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 แล้วดังนั้นที่จำเลยที่ 2แต่งทนายความต่อสู้คดีในนามของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาในคดีแล้ว

ย่อยาว

คดีแรกโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

คดีหลังจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยที่ 1 นั้น นายชาญณรงค์ โสภณดิเรกรัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ไม่เคยแต่งตั้งทนายความแก้ต่างให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงยังไม่ได้เข้ามาในคดี กระบวนพิจารณาที่ได้กระทำไปแล้วทั้งหมดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องอาศัยบุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ซึ่งในที่นี้คือนายชาญณรงค์ โสภณดิเรกรัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการ และกิจการของห้างฯ ย่อมต้องมีทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ อาจต้องมีกรณีพิพาทกันเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ทั้งในทางแพ่งและอาญา กรณีห้างฯ เป็นโจทก์ย่อมมีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทนหุ้นส่วนผู้จัดการได้กรณีเป็นจำเลยก็ย่อมมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทนได้เช่นเดียวกันอันจะเป็นผลให้การกระทำของตัวแทนผูกพันห้างฯ ได้ ทางพิจารณาได้ความตามคำเบิกความของนายชาญณรงค์ โสภณดิเรกรัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ว่า พยานได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ติดต่อกับโจทก์ คิดบัญชีหนี้สินที่เกี่ยวค้างกันและจำเลยที่ 1 ยังมอบงานบางอย่างให้จำเลยที่ 2 ทำ ทั้งพยานได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ใช้ตราของห้างฯ ได้นอกจากนี้ปรากฏตามสำนวนว่าในชั้นส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานศาลก็ได้ส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทด้วยและตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2523 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลปล่อยจำเลยที่ 2 ชั่วคราวระหว่างพิจารณาวันเดียวกันนั้นนายชาญณรงค์ก็ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยจำเลยที่ 2 ชั่วคราว ศาลชั้นต้นอนุญาต นายชาญณรงค์ได้ทำสัญญาประกันตัวจำเลยที่ 2 ซึ่งในคำร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็ดีคำร้องขอปล่อยชั่วคราวและสัญญาประกันดังกล่าวก็ดี มีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 ว่าเป็นจำเลยไว้อย่างชัดแจ้งทุกฉบับ นายชาญณรงค์ย่อมจะทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องคดีนี้ ที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีในนามของจำเลยที่ 1 มาแต่แรก ก็ไม่ปรากฏว่านายชาญณรงค์คัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 2 ทั้งในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น นายชาญณรงค์ได้เข้าเบิกความเป็นพยานสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยอีกด้วย โดยมิได้คัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 2 เลย พฤติการณ์ของนายชาญณรงค์ทั้งก่อนและภายหลังโจทก์ฟ้องคดีนี้ แสดงให้เห็นว่านายชาญณรงค์ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีแทนตนในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1ที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดีในนามของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาในคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเพิกถอน

พิพากษายืน

Share