คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2719/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม่มีข้อความตอนใดในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 ห้ามคณะกรรมการสอบสวนมิให้ทำรายงานการสอบสวนว่าการกระทำของข้าราชการที่ถูกสอบสวนทางวินัยมีมูลความผิดทางอาญาด้วย และไม่มีกฎหมายใดระบุ ไว้เช่นนั้นดังนี้ ถ้าในการสอบสวนโจทก์ปรากฏว่ามีมูลความผิดทางอาญาคณะกรรมการสอบสวนก็มีอำนาจที่จะทำความเห็น ให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ได้การที่จำเลยซึ่งเป็นกรรมการ สอบสวนโจทก์ทางวินัยได้ทำความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางอาญาให้พิจารณาสั่งการ ตามที่เห็นสมควรจึงเป็นการเสนอความเห็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีเจตนาร้ายหรือกลั่นแกล้งปรักปรำโจทก์ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นกรรมการสอบสวนโจทก์ข้อหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ ในการสอบสวนดังกล่าวจำเลยได้ร่วมกันทำรายงานสรุปสำนวนการสอบสวนโดยเจตนาร้ายต่อโจทก์ บิดเบือนข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนทางวินัยหลายประการ และเสนอให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์กับพวกฐานฉ้อโกงเงินรางวัล และเงินสินบนนำจับไม้ซุงสักที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพราะจำเลยเป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเท่านั้น ไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดทางอาญา ขอให้ลงโทษ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อที่โจทก์อ้างว่า คณะกรรมการสอบสวนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์กับพวกฐานฉ้อโกงเงินสินบนนำจับและเงินรางวัล และเสนอให้กรมศุลกากรดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งแก่โจทก์กับพวกเพื่อเรียกเงินสินบนนำจับและเงินรางวัลคืน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะคณะกรรมการไม่มีอำนาจสอบสวนทางอาญาแก่โจทก์กับพวกตามความในมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ และไม่มีอำนาจทำความเห็นว่าโจทก์กับพวกกระทำผิดอาญานั้น เห็นว่าความในมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ ไม่มีข้อความตอนใดห้ามคณะกรรมการสอบสวนมิให้ทำรายงานการสอบสวนว่าการกระทำของโจทก์กับพวกมีมูลความผิดทางอาญาและไม่มีกฎหมายอื่นใดระบุไว้เช่นนั้นด้วย แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่า คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าตามพยานหลักฐานที่รวบรวมและสอบสวนไว้ปรากฏว่าการกระทำของโจทก์กับพวกมีมูลความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงทำให้ได้รับเงินสินบนนำจับและรางวัลการจับกุม คณะกรรมการจึงเห็นว่าควรจะเรียกเงินดังกล่าวคืนโดยการดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์กับพวก เป็นที่เข้าใจกันได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าในการสอบสวนทางวินัยข้าราชการนั้น เมื่อปรากฏว่าการกระทำผิดทางวินัยนั้นเป็นความผิดทางอาญาด้วย คณะกรรมการสอบสวนก็มีอำนาจที่จะทำความเห็นเสนอให้ดำเนินคดีอาญาแก่ข้าราชการเหล่านั้นได้ ฉะนั้น การที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์กับพวกได้ทำความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีว่าการกระทำของโจทก์กับพวกมีมูลความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง จึงเป็นการเสนอความเห็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้เสนอไปโดยมีเจตนาร้ายหรือกลั่นแกล้งปรักปรำโจทก์กับพวกแต่ประการใด และได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตามแต่จะเห็นสมควรเท่านั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการว่าโจทก์กับพวกน่าจะมีความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงหรือไม่ และนายกรัฐมนตรีอาจจะใช้ดุลพินิจที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น การที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์กับพวกได้ทำรายงานว่า เมื่อโจทก์กับพวกถูกให้ออกและปลดออกจากราชการแล้ว การสอบสวนโจทก์ทางวินัยซึ่งยังไม่เสร็จนั้นจำต้องยุติลง แต่การกระทำของโจทก์กับพวกตามที่ได้สอบสวนมานั้นมีมูลความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง และเสนอให้กรมศุลกากรดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งแก่โจทก์กับพวกเพื่อเรียกเงินสินบนนำจับและเงินรางวัลคืน เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามแต่จะเห็นสมควรจึงเป็นการเสนอรายงานไปโดยมีอำนาจที่จะกระทำได้โดยไม่มีกฎหมายใดห้ามเห็นได้ว่าไม่มีเจตนาร้ายหรือกลั่นแกล้งปรักปรำโจทก์กับพวกแต่อย่างใด ย่อมเป็นการเสนอรายงานไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์กับพวกดังกล่าวจึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน

Share