แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะที่เป็นบุคคลธรรมดาโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการในขอบเขตแห่งวงหน้าที่ราชการ ย่อมมีอำนาจเป็นคู่ความในศาลได้ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่าง ปลัดจังหวัดเป็นผู้รักษาการแทนปลัดจังหวัดก็ย่อมเป็นบุคคลที่จะเป็นโจทก์ ฟ้องร้องได้ในฐานเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา 47 ที่ว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง นั้น ไม่ได้หมายถึงว่า จะไปกลับข้อเท็จจริงที่จำต้องรับฟังคำพิพากษาในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ได้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องอ้างเหตุจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ ๒ – ๓ ได้ร่วมกันผิดสัญญารับจ้างเก็บและจ่ายข้าวสารของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชอบเงินค่าข้าวสาร ๒,๐๐๐ กระสอบ ซึ่งจำเลยนำไปจำหน่ายเป็นเงิน ๒๙๒,๔๐๐.๐๐ บาท กับค่าข้าวสารขาด ๓๕,๙๑๔ กิโลกรัม เงิน ๕๘,๕๓๙.๙๙ บาท และขาดอีก ๕,๑๘๑ กิโลกรัม เงิน ๘,๔๙๕.๒๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๕๙,๔๓๕.๑๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ – ๓ และไม่ได้ผิดสัญญา
จำเลยที่ ๒ – ๓ ต่อสู้ว่ามีโกดังเก็บสินค้าคนละแห่ง และได้ให้จำเลยที่ ๑ เช่าไปเก็บข้าวสารโดยจำเลยที่ ๒ – ๓ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับจ้างเก็บและจ่ายข้าวสารตามที่โจทก์ฟ้อง
ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยรับผิดร่วมกัน เฉพาะใช้ราคาข้าว ๒,๐๐๐ กระสอบ คิดเป็นเงิน ๒๙๒,๔๐๐ บาท กับดอกเบี้ย คำขอนอกนั้นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ศาลชั้นต้นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ราคาข้าวสารที่ขาดน้ำหนักให้แก่โจทก์ ๖๗,๐๓๕.๑๙ บาท กับดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกาจำเลย
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายซึ่งจำเลยฎีกาว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่มีตัวตนที่แน่นอน นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะที่เป็นบุคคลธรรมดาโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการในขอบเขตแห่งวงหน้าที่ราชการ ย่อมมีอำนาจเป็นคู่ความในศาลได้ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่าง ปลัดจังหวัดเป็นผู้รักษาการแทนปลัดจังหวัดก็ย่อมเป็นบุคคลที่จะเป็นโจทก์ ฟ้องร้องได้ในฐานเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงควรต้องฟังว่า จำเลยได้เอาข้าวที่โจทก์ฝากไว้ จำนวน ๒,๐๐๐ กระสอบ ไปโดยพลการและยังไม่ได้ชำระราคานั้น ในเรื่องนี้ความสำคัญอยู่ที่ว่า เอกสารใบสั่งให้จำเลยจ่ายข้าวหมาย ๑, ๒ และ ๓ นั้น เป็นคำสั่งของฝ่ายโจทก์จริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริง ข้าวของโจทก์ที่ฝากไว้ก็ได้จ่ายไปหมดสิ้นแล้ว จำเลยไม่มีทางที่จะเอาไปโดยพลการได้อีก ๒,๐๐๐ กระสอบ ในเรื่องนี้ได้มีการดำเนินคดีกับจำเลยทั้งหมายในคดีอาญา ฟ้องกล่าวโทษจำเลยว่าปลอมหนังสือและใช้หนังสือปลอม คือ เอกสารหมาย ๑, ๒ และ ๓ นั้น คดีถึงศาลฎีกาพิพากษาว่า คดีไม่มีทางจะฟังว่า เอกสารนั้นปลอม ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา ศาลได้ชี้ขาดแล้วว่าเอกสารนั้นไม่ปลอม ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า ความจริงเอกสารนั้นปลอม คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๗ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความในมาตรา ๔๗ ไม่ได้หมายถึงว่าจะไปกลับข้อเท็จจริงทีจำต้องรับฟังตาม มาตรา ๔๖ ได้
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์