คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9752/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. 90 มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไวัโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
ตามคำร้องอ้างเหตุการควบคุม พ. เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ในชั้นฝากขัง พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอฝากขัง พ. ต่อศาล แต่ปรากฏว่าพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ. เป็นจำเลยและจำเลยถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาของศาลแล้ว ดังนั้น ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องที่ว่า การควบคุม พ. ในชั้นสอบสวน ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับการวินิจฉัยต่อไป ทั้งประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นข้อต่อสู้ของ พ. ที่จะได้รับการพิจารณาในชั้นรับฟังพยานหลักฐานของศาล ฎีกาของผู้ร้องจึงไม่มีประโยชน์แก่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาเพื่อดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ผู้ร้องในฐานะทนายความผู้ต้องหายื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๐
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลที่จะดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๐ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมโดยผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ หรือไม่ เห็นว่าสิทธิของผู้ร้อง ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตามมาตรา ๙๐ นั้น จะมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งตามคำร้องอ้างเหตุการควบคุมนางพรพิศหรือเตี้ย ไทรนนทรีย์ ว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในชั้นฝากขัง พนักงานสอบสวนจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอฝากขังนางพรพิศหรือเตี้ยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นั้น แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ พนักงานอัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางพรพิศหรือเตี้ย ไทรนนทรีย์ เป็นจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๘๕๖๘/๒๕๔๓ โดยจำเลยถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ดังนั้น ปัญหาการควบคุมนางพรพิศหรือเตี้ยในชั้นสอบสวนว่าชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นหรือไม่ จึงไม่มี ความจำเป็นที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป ทั้งประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นข้อต่อสู้ของนางพรพิศหรือเตี้ย ที่จะได้รับ การพิจารณาในชั้นรับฟังพยานหลักฐานของศาลอาญากรุงเทพใต้ ฎีกาของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่มีประโยชน์แก่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ปัญหาอื่นตามฎีกาของผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา

Share