คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)ฯ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโจทก์ย่อมมีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การกระทำของโจทก์ก็ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันจะเป็นผลทำให้ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
ระยะเวลาในการหักทอนบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 858 กับสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น เป็นคนละเรื่องกัน ในกรณีแรกไม่ว่าจะกำหนดอายุแห่งสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันไว้หรือไม่ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีกันไว้กฎหมายให้ถือกำหนดหกเดือนเป็นกำหนดหักทอนบัญชี ส่วนในกรณีที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกำหนดเวลาหรืออายุแห่งสัญญานั้นคู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คงมีแต่ข้อตกลงเฉพาะการหักทอนบัญชีและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน2541 และครบกำหนดตามระยะเวลาที่บอกกล่าวในวันที่ 12 กรกฎาคม 2541 สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว
จำนวนวงเงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคนละเรื่องกับโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยหรือไม่และจะคิดทบต้นอย่างไร ซึ่งตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้มีข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือน และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินนี้กลายเป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดคงมีอยู่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยและนำมาทบเป็นต้นเงิน แม้เมื่อรวมกันแล้วจะเกินวงเงินที่ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,022,409.94 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 7,280,180.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 8,022,409.94 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มกราคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ในวงเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นของต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2541 และดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2541 อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2542 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2542 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 622 ตำบลแกใหญ่ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาสุรินทร์ ตามเอกสารหมาย จ.4 และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม 2539 จำเลยได้เพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจาก 4,000,000 บาท เป็น 5,500,000 บาท ยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และตามที่ธนาคารโจทก์เป็นผู้กำหนด โดยขณะทำสัญญาอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี ส่วนเงื่อนไขและข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเดิม ปรากฏตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกมีว่า นายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นอกจากโจทก์จะส่งอ้างหนังสือรับรองของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารหมาย จ.1 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2541 ระบุไว้ชัดเจนว่าบริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน จำกัดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536 นายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนหนึ่งที่มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนบริษัทได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ปฏิเสธแต่เพียงลอย ๆ และไม่ได้ถามค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น ยังได้ความจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของนายสถาพร สายเชื้อว่าในขณะมอบอำนาจ นายโอฬารเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงต้องฟังว่า ในระหว่างปี 2536 ถึง 2541 นายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ เมื่อนายโอฬารมอบอำนาจให้นายยิ่งศักดิ์ตันตินุชวงศ์ ตามเอกสารหมาย จ.2 ในขณะที่นายโอฬารยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ การมอบอำนาจจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อตกลงตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่ สัญญาข้อ 2 มีความว่า”ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด เว้นแต่เมื่อผู้กู้ปฏิบัติผิดนัด ผิดเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัด ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวแทนอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปดังกล่าวข้างต้น ซึ่งขณะทำสัญญานี้ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดเรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดสัญญาลูกค้าทั่วไปในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 16.5 ต่อปี และสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปี แต่ต่อไปอัตราดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ผู้ให้กู้จะประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ของยอดหนี้ที่ปรากฏตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด และกำหนดส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน” เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโจทก์ย่อมมีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้แต่ต้องอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายมิใช่ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะเป็นผลทำให้ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา

ปัญหาประการต่อไปมีว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเมื่อใด จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจึงต้องสิ้นสุดลงภายในกำหนด 6 เดือน ตามระยะเวลาที่ต้องหักทอนบัญชีเห็นว่า ระยะเวลาในการหักทอนบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 858กับสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น เป็นคนละเรื่องกันสำหรับกรณีแรกไม่ว่าจะกำหนดอายุแห่งสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันไว้หรือไม่ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีกันไว้ กฎหมายให้ถือกำหนดหกเดือนเป็นกำหนดหักทอนบัญชี ส่วนในกรณีที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกำหนดเวลาหรืออายุแห่งสัญญานั้น อาจจะมีกำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีก็ได้เช่นให้หักทอนกันทุกวันสิ้นเดือนอย่างเช่นในคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 3 เพียงแต่ว่า คู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คงมีแต่ข้อตกลงเฉพาะการหักทอนบัญชี และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2541 ตามเอกสารหมาย จ.13 และครบกำหนดตามระยะเวลาที่บอกกล่าวในวันที่ 12 กรกฎาคม 2541 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวนี้จึงชอบแล้ว

ปัญหาที่จะวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนเกินวงเงินกู้จำนวน 5,500,000 บาท ดังจำเลยที่ 1 ฎีกาได้หรือไม่ เห็นว่า จำนวนวงเงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคนละเรื่องกับโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยหรือไม่ และจะคิดทบต้นอย่างไร ซึ่งตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 และข้อ 3 ได้มีข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือน และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินดังว่านี้กลายเป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนั้น ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังคงมีอยู่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยและนำมาทบเป็นต้นเงินแม้เมื่อรวมกันแล้วจะเกินวงเงินที่ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ก็ตาม สรุปแล้วฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง โดยมิได้กำหนดให้คิดจากต้นเงินจำนวนเท่าใดไว้ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนเป็นการไม่ถูกต้อง กับปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 3 เมษายน 2544 ว่า จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำแก้อุทธรณ์และถอนฟ้องจำเลยที่ 2 พร้อมทั้งขอรับเอกสารเพื่อไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้ต่อไป กรณีจึงมีผลเท่ากับโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไป และต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย และมูลหนี้ดังกล่าวจำนวน 1,500,000 บาท เป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้กู้กับจำเลยที่ 2 ผู้จำนอง คำพิพากษาจึงต้องมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้จำนองซึ่งต้องรับผิดซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมมิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน7,280,180.66 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 18 มกราคม 2542) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระแก่โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท มาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share