คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7701/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้เป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว ที่ศาลต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ดังนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่มีทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย การพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 991 เม็ด น้ำหนัก 88.160 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 23.555 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว และโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขเครื่อง 0506891 จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งจำเลยใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 700,000 บาท สำหรับโทษปรับหากไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 8310 หมายเลขเครื่อง 0506891 จำนวน 1 เครื่อง ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 1,000,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 500,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้เป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว ที่ศาลต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่มีทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความ โดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย การพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้จำเลย แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share