คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7701/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันออกโฉนดที่ดินยังไม่ถึง10 ปี แม้ว่าจำเลยจะครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของก็ตาม จำเลยก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ และจำเลยจะนับระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดที่ดินรวมเข้าด้วยกันหาได้ไม่ เพราะการที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ใช้ได้แต่เฉพาะที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2530 โจทก์ได้รับแบ่งมรดกของนายกุยศิริพร บิดาของโจทก์คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1078 ต่อมาปี 2533 โจทก์ได้ออกโฉนดในที่ดินดังกล่าวคือโฉนดเลขที่ 30287 ซึ่งโจทก์ได้แบ่งที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณะจำเลยได้รับที่ดินมรดกของนายกุยด้วย โดยอยู่ติดที่ดินโจทก์ไปทางทิศตะวันตก ต่อมาปลายปี 2533 จำเลยได้ก่อสร้างรั้วคอนกรีตและปลูกต้นไม้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โจทก์มาทราบเมื่อวันที่ 28สิงหาคม 2540 จึงแจ้งให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตและต้นไม้ออกไปแต่จำเลยโต้แย้งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีต ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างตลอดจนขนย้ายวัสดุสิ่งของต่าง ๆออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินต่อไป และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ทั้งโจทก์และจำเลยได้รับแบ่งที่ดินซึ่งเป็นมรดกของนายกุย ศิริพร ก่อนที่จะมีการแบ่งที่ดินมรดกของนายกุยให้แก่ทายาททุกคนนั้นได้มีการกันส่วนหนึ่งเป็นทางสาธารณะไว้ก่อนแล้วเมื่อมีการแบ่งแยกจำเลยได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 30288 ซึ่งติดกับที่ดินของโจทก์ จำเลยได้สร้างบ้านเรือนพร้อมรั้วและปลูกต้นไม้ลงในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นปีที่จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์และได้เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของเรื่อยมาถึงปัจจุบันเกินกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งโจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของเรื่อยมา จำเลยจึงได้มีหนังสือทวงถามให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เนื่องจากจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จึงฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ให้โจทก์แบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ โดยให้โจทก์เป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการดำเนินการทั้งสิ้น กับให้โจทก์รื้อถอนเสาคอนกรีตที่ปักอยู่ในบริเวณที่ดินพิพาทออกไป

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามคำฟ้องของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนแนวคอนกรีต ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างตลอดจนขนย้ายวัสดุสิ่งของต่าง ๆ ของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป ยกฟ้องแย้ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมายว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ เมื่อคดีฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ภาค 5ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ซึ่งข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1078ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน2533 ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์คือ โฉนดเลขที่ 30287จำเลยได้สร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ตารางวา และได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกบ้านของจำเลย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า บุคคลใดครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ เมื่อปรากฏว่านับแต่วันออกโฉนดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน2533 ถึงวันฟ้องคือวันที่ 23 กันยายน 2540 ยังไม่ถึง 10 ปี แม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาท โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของก็ตาม จำเลยก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยจะนับระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้าด้วยหาได้ไม่ เพราะการที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ใช้ได้แต่เฉพาะที่ดินมีกรรมสิทธิ์เท่านั้นจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ฎีกาที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share