แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษและฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายให้จำคุกกระทงละ 5 ปี แม้ศาลชั้นต้นรวมโทษเข้าด้วยกันเป็นจำคุก 10 ปี แต่การพิจารณาสิทธิฎีกาจะต้องแยกโทษแต่ละกระทงเป็นเกณฑ์ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ฎีกาของจำเลยที่ว่า พยานโจทก์เบิกความมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือว่ามีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้จากจำเลย และมีการค้นพบเมทแอมเฟตามีนในบ้านจำเลย พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีพิรุธและน่าสงสัยหลายประการ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 นั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาของจำเลยที่ว่า เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีหมายค้นและไม่ได้เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า การตรวจค้นบ้านและจับกุมจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย บันทึกการตรวจค้นและจับกุมจึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยได้นั้นการที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจค้นบ้านจำเลยโดยมีหมายค้นหรือไม่ และมีอำนาจจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับได้หรือไม่ จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า เจ้าพนักงานตำรวจพบพฤติกรรมซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าหรือไม่ จึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 17 เม็ด หนัก 1.36 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 7 เม็ด อันเป็นส่วนหนึ่งที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อเป็นเงิน 560 บาทโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปีฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุก 5 ปี รวมจำคุก10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี แม้ศาลชั้นต้นรวมโทษเข้าด้วยกันเป็นจำคุกจำเลย 10 ปี แต่การพิจารณาสิทธิฎีกาของคู่ความนั้นจะต้องแยกพิจารณาโทษแต่ละกระทงเป็นเกณฑ์ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายข้างต้น ฎีกาของจำเลยที่ว่า พยานโจทก์เบิกความมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือว่ามีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้จากจำเลย และมีการค้นพบเมทแอมเฟตามีนในบ้านจำเลย พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีพิรุธและน่าสงสัยหลายประการ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 นั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า การตรวจค้นและจับกุมจำเลยนั้นเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีหมายค้นและไม่ได้เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า การตรวจค้นบ้านจำเลยและจับกุมจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย บันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.5จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจค้นบ้านจำเลยโดยมีหมายค้นหรือไม่และเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับได้หรือไม่ จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า เจ้าพนักงานตำรวจพบพฤติกรรมซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าหรือไม่ จึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งหมดจึงล้วนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้นแม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย