แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดิน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คำนึงถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์นั้น 3 อย่าง ได้แก่ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ สำหรับคดีนี้คือวันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 ราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ประกอบกับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น พร้อมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน รวม 5 ข้อ ที่ต้องพิจารณาประกอบกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ถูกเวนคืนและสังคม แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ มุ่งเน้นการพิจารณาไปในเรื่องสภาพและที่ตั้ง และประโยชน์ที่ได้รับหลังจากถูกเวนคืน แล้ววางหลักเกณฑ์กำหนดราคาเพิ่มสำหรับที่ดินที่อยู่ติดถนนรามอินทราเท่า ๆ กันหมด ถ้าแปลงใดมีส่วนที่ถูกเวนคืนอยู่ไม่ลึกจากถนนรามอินทรามากนัก ไม่เกิน 80 เมตร ก็กำหนดเพิ่มให้ ถ้าอยู่ลึกเข้าไปมากกว่านั้น ก็กำหนดราคาให้ต่ำลงไปอีก ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้น จึงยังไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง
เมื่อศาลเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เพิ่มให้ยังต่ำไป และกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่เป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนด เมื่อไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ไปแล้วหรือไม่ ศาลจึงยังไม่เอาเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดเพิ่มขึ้นดังกล่าวมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลกำหนดให้ข้างต้นแต่หากมีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดเพิ่มขึ้นกับดอกเบี้ยของเงินที่กำหนดเพิ่มให้แก่โจทก์ไปแล้วก็ต้องนำเอามาหักกันในชั้นบังคับคดี
ในเรื่องดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว แต่ต้องไม่เกินคำขอของโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยกำหนดให้โจทก์มารับเงินค่าทดแทนที่ดินในวันใด ถือได้ว่าวันที่โจทก์รับเงินไปเป็นวันที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ไปรับเงินอันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินตามมาตรา 26วรรคสาม วันเริ่มคิดดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นคือวันที่โจทก์รับเงินไปดังกล่าว